ความเป็นมา
พ.ศ.2474
ที่ราชพัสดุแปลงทะเบียนที่ รบ.553 เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ มีพื้นที่ถึง 500,000 ไร่ ได้มาจากการหวงหามที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พุทธศักราช 2474 ซึ่งได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ อ.เมืองกาญจนบุรี อ.วังขนาย อ.บ้านทวน และ อ.วังกะ จ.กาญจนบุรี
พ.ศ.2481
ปีพุทธศักราช 2481 กำหนดเขตที่ดินมีแนวเขตที่ดินหวงหามตามแผนที่แสดงแนวเขตหวงห้ามเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร โดยมีเจ้ากรมแผนที่ทหารเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการหวงหามที่ดินดังกล่าว และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาฯ
พ.ศ.2506
ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2506 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งประมวลกฏหมายที่ดิน มอบหมายให้กองทัพบกมีอำนาจในการหวงห้ามที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดดขตหวงหามที่ดินฯ ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ราชการโดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2497 เป็นต้นมา
จ.ราชบุรี มีที่ดินราชพัสดุเนื้อที่รวม 538,117-1-60.34 ไร่ และแปลงที่มีปัญหาการบุกรุกคือ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ รบ.553 เนื่องจากเป็นที่ราชพัสดุแปลงใหญ่ได้มาจากการหวงห้ามที่ดิน ซึ่งมีแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้กำหนดเอาบางส่วนของบ้านสวนผึ้ง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี (ต่อมาเป็น ต.สวนผึ้ง, กิ่ง อ.สวนผึ้ง และปัจุบันเป็น อ.สวนผึ้ง ตามลำดับ) โดยมิได้ระบุชื่อ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ไว้ในชื่อพระราชกฤษฎีกาด้วย มีเนื้อที่ประมาณ 3,048,750 ไร่
ปัจจุบันเนื้อที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต จ.กาญจนบุรี และบางส่วนอยู่ในเขต อ.จอมบึง และ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เฉพาะที่ดินภายในเขตที่ได้ห้วงหามส่วนที่อยู่ใน จ.ราชบุรี ดังกล่าว ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุเป็น "แปลงหมายเลขทะเบียนที่ รบ.553" เนื่อที่ประมาณ 500,000 ไร่
แม้มิได้ระบุว่า อ.สวนผึ้ง ก็ยังเป็นที่ดินหวงห้าม
ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีได้รับแจ้งจากกรมธนารักษ์ว่า ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งต้องหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ คือ ที่ดินที่อยู่ภายในเขตห้วงห้ามตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ นั่นเอง ดังนั้น ที่ดินแปลงใดจะเป็นที่สงวนห้วงห้ามหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ภายในแนวเขตแผนที่ตามพระราชกฤษฎีกาฯ หรือไม่
ส่วนกรณีที่พระราชกฤษฎีกาฯ มิได้ระบุชื่อ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ไว้ มิได้มีผลทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นที่หวงหาม โดยเทียบเคียงกับคำพิพากษาฎีกา และกรณีดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทีคำวินิจฉัยแล้วว่า ที่ดินในเขต อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี อยู่ภายในเขตสงวนหวงห้ามด้วย
ใครดูแล
ที่ดินราชพัสดุแปลงนี้มีกองทัพบก เป็นส่วนราชการผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ มีหน่วยทหารดูแลคือ กรมการทหารช่าง เป็นหน่วยดูแลใช้ประโยชน์พื้นที่ ประมาณ 239,000 ไร่ กองพลพัฒนาที่ 1 เป็นหน่วยดูแลใช้ประโยชน์พื้นที่ ประมาณ 261,000 ไร่ (เขต อ.สวนผึ้ง ประมาณ 171,000 ไร่ และเขต อ.จอมบึง ประมาณ 90,000 ไร่) จำนวนนี้ครอบคลุมพื้นที่โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ ประมาณ 132,905 ไร่ และเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ประมาณ 13,500 ไร่ และยังมีส่วนราชการ วัด สำนักสงฆ์ ใช้ที่ราชพัสดุแปลงนี้อีก เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย ที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง วัด และแหล่งน้ำหรือสาธารณประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์โดยจังหวัดราชบุรี ยังได้พิจารณาอนุญาตให้ส่วนราชการต่างๆ เข้าใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวไปแล้วจำนวนมาก เช่น
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้เป็นที่ตั้ง กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 137 เนื้อที่ 532-1-83.68 ไร่
- กรมชลประทานใช้เป็นคลองชลประทาน เนื้อที่ประมาณ 284-0-00 ไร่
- กรมทางหลวง ใช้เพื่อก่อสร้างทางหลวงและที่เก็บวัสดุ เนื้อที่ประมาณ 473-3-37.50 ไร่
ปัญหาราษฎรเข้าครอบครอง
ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน รบ.553 มีปัญหาราษฎรเข้าครอบครองมาแต่เดิม โดยกองทัพบก (จังหวัดทหารบกราชบุรี) และกรมธนารักษ์ได้ร่วมสำรวจและรังวัดจัดทำแผนที่ทางกายภาพ เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2535-2538 พบว่ามีการเข้าทำประโยชน์ของราษฎรและการใช้ประโยชน์จำนวน 6,655 แปลง แยกเป็น อ.สวนผึ้ง จำนวน 4,186 แปลง อ.จอมบึง จำนวน 2,469 แปลง
การแก้ปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้มอบนโยบายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ โดยยึดถือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ.2545 มาตรการของคณะกรรมการแก้ไชปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เรื่อง การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 เรื่อง การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นแนวทางปฏิบัติกับผู้บุกรุกถือครองที่ดินทุกราย โดยใช้แนวทางแก้ปัญหา 3 ประการ คือ
- ในกรณีที่ราษฎรโต้แย้งสิทธิในที่ดิน ก็ต้องเสนอเรื่องให้ คณะกรรมการบูรณาการจังหวัด (กบร.) พิสูจน์สิทธิ หากราษฎรมีสิทธิในที่ดินโดยชอบ ก็จะกันพื้นที่ให้ราษฎรไปออกเอกสารสิทธิในที่ดินต่อไป หากราษฎรไม่มีสิทธิในที่ดิน ก็จะต้องเช่าที่ดินกับทางราชการให้ถูกต้องตามระเบียบ หรือหากไม่ยอมรับผลการพิสูจน์สิทธิก็สามารถไปใช้สิทธิทางศาลได้ ในกรณีคดีถึงที่สุดแล้วและศาลพิพากษาให้แพ้คดี ทางราชการจะไม่อนุญาตให้ราษฎรผู้นั้นเช่า
- ในกรณีผู้ถือครองที่ดินไม่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ และประสงค์จะเช่าที่ราชพัสดุทางราชการ ก็จะดำเนินการจัดให้ผู้ถือครองที่ดินเช่าตามเงื่อนไข ประกาศจังหวัดราชบุรี ฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2552
- ในกรณีที่ผู้ถือครองที่ดินไม่ประสงค์จะขอพิสูจน์สิทธิ และไม่ประสงค์จะขอเช่าทางราชการก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลต่อไป
หลักเกณฑ์การเช่าที่ดินราชพัสดุ
สำหรับกรณีการจัดให้ราษฎรผู้ถือครองที่ดินที่ไม่โต้แย้งสิทธิการเช่าที่ดินนั้น จ.ราชบุรี ได้บูรณการกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยแต่งตั้ง "คณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาการเช่าที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ รบ.553 อ.จอมบึง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี" เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยมีหลักเกณฑ์การเช่า 5 ประการ คือ
- กรณีการจัดให้ราษฎรเช่า ให้พิจารณาจากผู้ที่บุกรุกอยู่ในช่วงเวลาไม่เกินปี พ.ศ.2538 ซึ่งได้มีการจัดทำแผนที่ทางกายภาพไว้แล้ว
- กรณีตกสำรวจจากข้อ 1 ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่อาศัยและทำประโยชน์อยู่จริง แต่ขณะสำรวจรังวัดไม่ได้อยู่ในพื้นที่จึงไม่ได้นำทำการสำรวจรังวัด ก็สามารถจัดให้เช่าได้ แต่ต้องให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ราชบุรีและหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์พิจารณาร่วมกัน
- ต้องเป็นผู้ถือครองที่ดินราชพัสดุ ก่อนวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2546 หากถือครองที่ดินราชพัสดุหลังปี พ.ศ.2538 แต่ก่อนวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2546 ให้สำนักงานธนารักษ์และหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์พิจารณาร่วมกัน
- พื้นที่ต้องไม่มีความลาดชันเกิน 35%
- ต้องไม่อยู่ในพื้นที่ต้องห้ามตามมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำลำภาชี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก
จ.ราชบุรีได้ออกประกาศให้ราษฎรทั้ง 2 อำเภอที่อยู่อาศัยทำกินในที่ดินราชพัสดุได้ทราบทั่วกันและให้มายื่นคำร้องขอเช่าที่ดินราชพัสดุได้ที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ จ.ราชบุรีได้ตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พิจารณาเห็นว่าจำเป็นต้องกำหนกหลักเกณฑ์การเช่าฯ ดังกล่าวนั้น สืบเนื่องมาจากที่ราชพัสดุแปลงนี้เป็นแปลงใหญ่ มีเนื่อที่ประมาณ 500,000 ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไป เป็นภูเขา ป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธาร มีพื้นที่ราบบางส่วน และยังมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า เป็นพื้นที่เกี่ยวกับความมั่นคงชายแดนของประเทศไทยและทหารยังมีความจำเป็นต้องใช้เป็นสถานที่ฝึกกองกำลังทหารอีกด้วย ส่วนราษฎรที่เข้าถือครองที่ดินอยู่นอกเหนือกฏเกณฑ์ตามที่จังหวัดราชบุรีได้ประกาศไว้ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ราชบุรี และหน่วยทหารที่ดูแลพื้นที่ดำเนินการกับผู้ถือครองที่ดินดังกล่าวตามมาตรการจากเบาไปหาหนัก กล่าวคือ แจ้งเตือนให้ออกจากพื้นที่ไปจนถึงการบังคับใช้กฏหมายต่อไป
แนวทางการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ
กรมธนารักษ์ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลและเสนอแนวทางในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานฯ ได้กำหนดแนวทางและขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน โดยได้กำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการ คือ พื้นที่ที่ได้มีการสำรวจรังวัดและทำแผนที่กายภาพไว้แล้ว เมื่อปี พ.ศ.2538 โดยจะทำการปักหลักเขตตามแผนที่กายภาพปี 2538 ให้เห็นชัดเจน และจะทำงานในลักษณะบูรณาการกับกองทัพบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับขั้นตอนการดำเนินการจะทำการแบ่งกลุ่มผู้ครอบครองที่ดินเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มผู้ขอเช่าใหม่ (อยู่อาศัย/การเกษตร) ก็จะทำการตรวจสอบรังวัดจัดทำแผนที่พิจารณาพื้นที่ว่าอยู่ในหลักเกณฑ์การจัดให้เช่าหรือไม่ กำหนดอัตราค่าเช่าตามวัตุประสงค์ และเสนอขออนุมัติ/จัดทำสัญญา
กลุ่มผู้เช่าเดิม ก็จะต้องทำการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ หากพบว่าครอบครองภายในเขตเช่าก็จะตรวจสอบการใช้ก็จะตรวจสอบการใช้ประโยชน์ว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากครอบครองเกินเขตเช่าก็จะต้องปรับพื้นที่ลดลงมาให้ถูกต้องเป็นไปตามสัญญาเช่า หรือหากพื้นที่เช่าไม่ถูกหลักเกณฑ์ เช่น อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำหรือความลาดชันเกิน 35% ก็จะต้องลดเนื้อที่เช่าหรือระงับการต่อสัญญาเช่า
กลุ่มรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จัดให้เช่าแล้ว จะต้องตรวจสอบและกำหนดอัตราค่าเช่าให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ กลุ่มที่ยังไม่ได้เช่า กลุ่มนี้ยังแยกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ยินยอมยื่นคำร้องขอเช่าก็จะดำเนินการตรวจสอบรังวัดทำแผนที่ พิจารณาหลักเกณฑ์การเช่า กำหนดอัตราค่าเช่า และเสนออนุมัติ/จัดทำสัญญาเช่า กรณีที่ 2 ไม่ยินยอมเช่า ก็จะรวบรวมหลักฐานดำเนินคดี
ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ถือครองที่ดินที่เห็นว่ามีสิทธิในที่ดินโดยชอบก็สามารถยื่นเรื่องโต้แย้งสิทธิได้ต่อ กบร.จังหวัดราชบุรี เพื่อจะได้พิสูจน์สิทธิครอบครองตามมาตรการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐต่อไป
*************************
ที่มาข้อมูล
- เจน รัตนพิเชฎฐชัย และคณะ. (2554). ผู้ว่าราชการจังหวัด นักบริหาร นักพัฒนา (สุเทพ โกมลภมร). นครปฐม : เพชรเกษมพริ้นติ้ง กรุ๊ป. (ดูภาพหนังสือ)