วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

"ชีวิตคือพอเพียง" รางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 10 โดยเยาวชนจาก จ.ราชบุรี

ผมเผอิญได้ไปอ่านหนังสือ "รวมผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 10 ประจำปี 2551"  ซึ่งเป็นโครงการของคณะทำงานรางวัลลูกโลกสีเขียว บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเริ่มจัดประกวดครั้งแรกตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา  ผมพบว่าเยาวชนของ จ.ราชบุรี คนหนึ่ง ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทเรียงความเยาวชน คือ น.ส.คือพอ สวงศ์ อายุ 18 ปี (อายุในขณะนั้น) อาศัยอยู่ที่ 399 หมู่ 3 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เรียนอยู่การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดราชบุรี ขณะทำงานอยู่กับ มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ จึงได้นำบทคัดย่อเรียงความเรื่อง "ชีวิตคือพอเพียง" ดังกล่าวมาเผยแพร่ในบล็อกนี้ เพื่อสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับวิถีพอเพียง การแบ่งปัน ความผูกพัน ระหว่างดิน น้ำ ป่า และเพื่อเป็นการยกย่องเผยแพร่ชื่อเสียงของ น.ส.คือพอฯ  เยาวชนของ จ.ราชบุรี ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ อันจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป

ชีวิตคือพอเพียง
โดน น.ส.คือพอ สวงศ์

บทคัดย่อ

พระอาทิตย์ส่องขอบฟ้า
เป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่
ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มตื่นและเบิกบาน
ตื่นขึ้นมา เพื่อทำภารกิจหน้าที่ของตนเอง

ต้นไม้พุ่มใหญ่บนภูเขา สัตว์น้อย นก กระรอกนานาพันธุ์ ป่าไผ่ในฤดูแล้ง ป่าดิบชื้นในฤดูฝน ป่าเต็งรังในช่วงผลัดใบ ป่าต้นน้ำในหุบเขาลึก ผืนดินทราย ในลำธารกว้าง  แต่งแต้มข้างๆ ด้วยหาดหินนานาสี ผืนดินเหนียวที่ชุ่มฉ่ำน้ำยามฝนตก ดินร่วนซุยนั้นส่งกลิ่นหอม

สววรค์ของพืชพันธุ์น้ำ คงไม่พ้นผืนดินใกล้ลำห้วย สายน้ำจากกลางป่าใหญ่ ทั้งสายน้ำจากใต้ดินและจากตาน้ำบนเทือกเขาตะนาวศรี  ที่หลั่งไหลเป็นสายธารหล่อเลี้ยงผู้คนในอำเภอสวนผึ้ง

อากาศเย็นที่สดชื่น หายใจสะดวกปอด สยาบกาย ฟ้าสีครามสดใสสวยสง่าโลก ภูเขาใหญ่ล้อมรอบตัวของเรา ลำน้ำไหลผ่านบ้านของพวกเรา ทุกชีวิตผ่านไปตามกาลเวลา รอสักวันจะมีเพื่อนที่รู้ใจ หนึ่งเพื่อนนั้นก็คือมนุษย์

ตั้งแต่จำความได้  ฉันเชื่อว่านาทีแห่งการเรียนรู้ของฉันกำลังเริ่มต้น ครอบครัวของฉันอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ พ่อกับแม่ปลูกข้าว ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร พวกเราพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติ แม่ทำให้ฉันรู้ว่าการหาผักหวาน ผักกูด ต้นบอนริมห้วยที่มีน้ำใส สนุกแค่ไหน ส่วนพ่อก็ทำให้ฉันรู้ว่าการทำไร่และการเดินเที่ยวป่านั้นน่ารื่นรมย์ และฉันรู้สึกสดชื่นแข็งแรง

ฉันมีป่าเป็นห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุด แล้วมีธรรมชาติเป็นเพื่อนเล่น ฉันชอบแข่งกับเพื่อนปีนกอกล้วยป่าขึ้นไปบนเรือนยอดกล้วย แล้วโน้มใบกล้วยของต้นที่ติดๆ กัน มาซ้อนทับกัน แล้วฉันก็นอนหลับเล่นบนเปลใบกล้วยนั่นเอง

การรอคอยของเด็กน้อยก็คือ การได้ลิ้มรสของหวาน ซึ่งฉันไม่ต้องไปหาซื้อที่ร้านค้า เพราะเรามีต้นละมุดป่า ขนุนป่า มะม่วงป่า มะไฟป่า แม้กระทั่งลิ้นจี่ป่าที่แสนสดอร่อย แล้วยังมีวุ้นไผ่อ่อนที่มีเฉพาะช่วงฤดูฝน โดยเราจะต้องเฉาะลำไผ่ให้เป็นแผล มันจะสร้างน้ำเลี้ยงมารักษาแผล เมื่อผสมกับน้ำฝนและความชื้นที่พอเหมาะ ก็จะเกิดวุ้นไผ่อ่อนในกระบอกรอให้เราไปเฉาะกิน

แต่แล้ววันเวลาก็ได้พรากฉันจากเพื่อนของฉัน ฉันได้มาอยู่โลกใบใหม่ โลกที่เต็มไปด้วยขนมซองสีสันสวยงาม ภาพการ์ตูนสนุกๆ ออกมาจากโทรทัศน์ เสียงดนตรีแปลกๆ จากวิทยุ แม้ว่าภาพความทรงจำบางส่วนจะผ่านไป แต่การเรียนรู้ของฉันไม่มีวันจบ เพราะฉันรู้ว่าเพื่อนที่เป็นธรรมชาติของฉันน่าสงสารมากแค่ไหน 

ธรรมชาติได้สอนให้เราตระหนักว่า ในห่วงโซ่ของความสัมพันธ์นั้น ทุกสรรพสิ่งล้วนมีคุณค่า และพลังเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในธรรมชาติมีความลับมากมายซึ่งรอการค้นพบ และการดูแลหวงแหนจากมนุษย์ที่ต้องการแสวงหาความสุขที่แท้จริง

************************************
ที่มา : ศรีสุรางค์  มาศศิริกุล. (2551).  รวมผลงานลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 10 ประจำปี 2551. กรุงเทพฯ : ศิริชัยการพิมพ์. (หน้า 173).
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"แร่เฟลด์สปาร์" ทรัพยากรธรณี สัญลักษณ์ของ จ.ราชบุรี
















จังหวัดราชบุรีมีการผลิตแร่เฟลด์สปาร์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นในอุตสาหกรรมเซรามิก โดยเฉพาะโพแทสเซียมเฟลด์สปาร์บด ที่ใช้ในการผลิตเซรามิกคุณภาพสูง พบบริเวณ อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง อ.บ้านคา แร่เฟลด์สปาร์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นทรัพยากรธรณีสัญลักษณ์ของ จ.ราชบุรี














ธรณีวิทยา
พื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกของ อ.สวนผึ้ง ประกอบด้วยหินไบโอไทต์แกรนิต เนื้อสองขนาด อายุ 80-55 ล้านปี เป็นหินที่เกิดร่วมกับแร่ดีบุกและทังสเตน  แร่เฟลด์สปาร์เป็นชื่อรวม ประกอบด้วยแร่หลายชนิด โดยทั่วไปมีผลึกเป็นรูปแบน มักเกิดเป็นผลึกแฝด มีสีขาวถึงสีเข้ม วาวแบบแก้วและแบบมุก  เป็นแร่ประกอบหินที่สำคัญของหินอัคนี  แบ่งตามส่วนประกอบออกเป็นโพแทสเซียมเฟลด์สปาร์และโซเดียมเฟลด์สปาร์ ซึ่งจะพบทั้งสองชนิดในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง ในสายเพกมาไทต์ส่วนใหญ่เป็นแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ พบตัดเข้าไปในหินที่แก่กว่าหรือหินแกรนิต

*************************************
ที่มา :
กรมทรัพยากรธรณี. (2555). ทรัพยากรธรณี สัญลักษณ์ของจังหวัด. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิซซิ่ง. (หน้า 68) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>