วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สัตว์ป่าในท้องที่มณฑลราชบุรี พ.ศ.2468

บทความนี้ ผมตั้งใจนำมาเขียนเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้จินตนาการเกี่ยวกับสัตว์ป่าในสมัยปี พ.ศ.2468 ในท้องที่มณฑลราชบุรี ซึ่งเขียนไว้หนังสือสมุดราชบุรี โดยผมได้คัดลอกตามภาษาและสำนวนที่ได้เขียนในครั้งนั้น ตัวสะกดต่างๆ อาจจะแตกต่างจากภาษาในปัจจุบันไปบ้าง  หลังจากอ่านแล้ว ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไร ลองวาดภาพเอาเองนะครับ 

"ข้อความที่ได้บรรยายมาแล้ว ตั้งแต่ภาคที่ ๑ ตลอด จนตอนต้นแห่งภาคนี้ ได้กล่าวถึงสรรพสิ่งต่างๆ อันควรดู ควรรู้ ควรเห็น เพราะเปนสิ่งสำคัญและสิ่งวิจิตร์ โดยตลอดแล้วนั้น แต่ในท้องที่มณฑลราชบุรี ยังมีสิ่งที่ควรกล่าวถึงอีกอย่าง ๑ คือ สัตว์ป่า ซึ่งเกือบจะกล่าวได้ว่า ตามท้องที่มณฑลที่ใกล้พระนครและทางไปมาสดวก จะไม่มีที่ใดชุกชุมเท่า มีทั้งสัตว์ป่าใหญ่ที่สำคัญและชนิดที่แปลก เช่น แมวป่า ซึ่งชาวต่างประเทศมีความนิยมอยากได้ และซื้อหากันราคาแพงๆ นั้น เปนต้น กับราษฎรชาวมณฑลนี้ ก็มีอยู่หลายแห่งหลายตำบลเปนจำนวนมากที่มีความชำนาญในการล่าสัตว์ หรือที่เรียกว่า "พวกพราน" 

ล่องเรือชมสัตว์ป่า (ภาพสมัยใหม่ จำลองเพื่อสร้างจินตนาการ)
ที่มาของภาพ : http://planet.cp-24.com/page/3/
ฉนั้นจึงควรนับว่าท้องที่มณฑลนี้เปนทำเลที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเที่ยวเตร่ชมสัตว์ป่า โดยจะมีโอกาศได้พบได้เห็นไม่ยากนัก และสำหรับผู้ประสงค์จะทำการล่าสัตว์ก็ย่อมสดวกและเปนผลสำเร็จได้ง่ายดังนี้  เพื่อให้สมุดราชบุรีทำประโยชน์แก่ผู้อ่านซึ่งมีความพอใจในทางนี้ยิ่งขึ้น จึงได้นำข้อความตอนนี้มากล่าวไว้ด้วย

ทำเลที่มีสัตว์ใหญ่ชุกชุมนั้น คือ ท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี  ระหว่างลำน้ำแควใหญ่และแควน้อย ตั้งแต่ตำบลเหนือเมืองขึ้นไปตลอดจรดเขาบรรทัด  จังหวัดราชบุรีมีชุกชุมในท้องที่กิ่งอำเภอจอมบึง อำเภอปากธ่อ ตลอดไปจรดเขาบรรทัด ในท้องที่จังหวัดเพ็ชร์บุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีมากตั้งแต่ตวันตกทางรถไฟไปจรดเขาบรรทัดโดยตลอดเช่นเดียวกัน

กล่าวฉะเภาะตำบลให้แคบเข้า และในทำเลซึ่งนักล่าสัตว์เคยไปและเปนที่พอใจแล้วคือ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ตำบลเมืองเก่า ทั้งสองฟากลำแม่น้ำแควใหญ่ มี หมูป่า กวาง และอีเก้ง ชุกชุมมาก ตำบลนี้ห่างจากศาลากลางเมือง ประมาณ ๕๐๐ เส้นและไปได้สดวกทั้งทางน้ำทางบก ต่อขึ้นไปที่ตำบลท่ากระทิ ในลำน้ำเดียวกัน ระยะทางเรือยนต์เดินทางจากเมือง ๘ ชั่วโมง มี วัวกระทิง กวาง อีเก้ง ชุกชุมมาก ตลอดจนช้างป่า ถัดท่ากระทิขึ้นไประยะทาง ๔ ชั่วโมงถึงบ้านหมอเฒ่า เปนตำบลที่มีสัตว์ป่าชุกชุมเช่นเดียวกับท่ากระทิ ต่อขึ้นไปอีก ๖ ชั่วโมง ถึงตำบลสองคลอง ซึ่งเปนที่มีสัตว์ป่าชุกชุมอีกตำบล ๑ และมีแมวป่า ในตำบลนี้ด้วย ต่อไประยะทางอีก ๔ ชั่วโมง ถึงบ้านวังเขมร ก็เปนที่มีสัตว์ป่าใหญ่ชุกชุมเหมือนกัน ต่อขึ้นไปจากนี้ถึงกิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์  ยังมีตำบลที่มีสัตว์ป่าชุกชุมอีกหลายตำบล แต่ระยะทางไกลมากไป

ในลำน้ำแควน้อย ที่บ้านวังอ้ายหมู แห่ง ๑ ระยะทางเรือยนต์เดินทางจากเมือง ๓ ชั่วโมง ที่บ้านวังโพ แห่ง ๑ ระยะทางจากวังอ้ายหมู ๑๐ ชั่วโมง ที่บ้านวังใหญ่ แห่ง ๑ ถัดจากวังโพขึ้นไป ๒ ชั่วโมง ที่บ้านเขาพัง แห่ง ๑ ระยะทางจากบ้านวังใหญ่ ๒ ชั่วโมง และพุทองช้าง อีกแห่ง ๑ ระยะทางจากบ้านเขาพัง ๑ ชั่วโมง ตามตำบลเหล่านี้ มีสัตว์ป่าชุกชุมมากเช่นเดียวกับทางแควใหญ่ ต่อขึ้นไปถึงไทนโยค และเหนือขึ้นไปอีก ยังมีอีกหลายแห่งแต่ระยะทางไกลมากไป

ในทำเลสัตว์ชุมตามที่กล่าวมานี้ อยู่ติดต่อกับฝั่งแม่น้ำทั้งสิ้น ไม่ต้องเดินขึ้นไปไกลเลย แม้สำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์ล่าสัตว์ เมื่อเดินเข้าไปในป่าเงียบๆ ก็อาจได้พบเห็นสัตว์ใหญ่ๆ เช่น กวาง หมู เหล่านี้ก็ได้ และทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ในขณะที่เรือเดินไปเวลาตอนเช้าและเย็น จะได้เห็นสัตว์เล็กๆ เช่น นกยูง และไก่ป่า อยู่ตามตลิ่งและตามหาดเปนฝูงๆ รายไปตลอดระยะทาง ซึ่งจะได้ชมอย่างเพลิดเพลิน

ในจังหวัดราชบุรี มีสัตว์ใหญ่ชุกชุมที่ตำบลจอมบึง ระยะทางห่างจากเมืองราว ๘๐๐ เส้น และที่ตำบลสวนผึ้ง ระยะทางห่างออกไปอีก ๘๐๐ เส้น กับในตำบลยางหัก ท้องที่อำเภอปากธ่อ ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๘๐๐ เส้น ตำบลเหล่านี้เดินทางบกใช้ม้าและเกวียนไปได้สบาย ใน ๒ ตำบลหลังเปนท้องที่ซึ่งชาวเกรี่ยงอยู่ทั้งสิ้น และมีอาณาเขต์ออกไปติดต่อกับแดนพม่าที่เขาบรรทัด นอกจากสัตว์ใหญ่ ยังมีสัตว์เล็กๆ เช่น อีเก้ง กระต่าย ไก่ป่า ชุกชุมที่สุด และสัตว์เหล่านี้ไม่ใคร่จะกลัวคน อาจได้พบแลยิงได้ง่ายๆ

แมวป่า
ที่มาของภาพ
http://www.skn.ac.th/skl/skn422/life/p89.htm
ในจังหวัดเพ็ชร์บุรี ตำบลที่มีสัตว์ใหญ่มาก คือ ในท้องที่อำเภอยางหย่อง ตามลำน้ำเพชร์ตอนเหนือ อำเภอท่าช้าง และอำเภอหนองจอก ที่ตำบลชะอำ ก็มีสัตว์พอเที่ยวหายิงได้

ต่อไปในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แถวใกล้ๆ เมืองมีเลียงผา กับกระต่ายชุกชุมมาก และตามแม่น้ำปราณตอนเหนือ มีสัตว์ใหญ่ชุกชุม ต่อไปทางอำเภอบางสพานยิ่งมีสัตว์ใหญ่ชุกชุมมากขึ้น  จนมีชื่อเสียงเปนที่รู้จักของนักล่าสัตว์ตำบล ๑ เพราะได้เคยมีผู้ไปล่ากันมากแล้ว

แมวป่า เปนสัตว์แปลกชนิด ๑ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น และไม่ใคร่ปรากฏว่ามีในท้องที่ใด รูปพรรณของแมวป่าคล้ายเสือตัวโต ขนาดเท่าเสือลายตลับ แต่สีเหลืองหม่นหรือจางกว่าเสือธรรมดาและไม่มีลาย หางมีขนเปนพวงคล้ายหางสุนักข์จู นับว่าเป็นสัตว์อยู่ในระหว่างเสือกับแมว

ที่มา
มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.

อ่านเพิ่มเติม : วิธีล่าสัตว์ของพรานสมัยมณฑลราชบุรี
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าวจะได้มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนได้มีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในพื้นที่แหล่งอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

การเลือกพื้นที่ป่าที่จะกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ยึดถือหลักในการเลือกพื้นที่ดังนี้

  1. เป็นป่าที่มีสัตว์ป่าชนิดหายาก หรือกำลังจะสูญพันธุ์อาศัยอยู่
  2. มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และที่หลบภัยสำหรับสัตว์ป่าอย่างเพียงพอ
  3. อยู่ห่างจากชุมชนพอสมควร
  4. เป็นป่าผสมกันหลายชนิดอยู่ในผืนเดียวกัน เป็นต้นว่า มีทั้งป่าดงดิบ ป่าโปร่ง ป่าไผ่ ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ฯลฯ เพราะพื้นที่ที่มีลักษณะดังกล่าวย่อมมีประโยชน์ต่อสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด
  5. จะต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของบุคคลใด ซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง
ข้อมูลทั่วไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีถูกประกาศตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 76 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2521 มีพื้นที่ประมาณ 489.31 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 305,820 ไร่ ตั้งอยู่ในอำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี
ประเทศสมาชิกอาเซียนได้กำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่จะประกาศให้เป็นมรดกทางการท่องเที่ยวของอาเซียน แหล่งท่องเที่ยวที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกอาเซียนตาม ASEAN Declaration on Heritage Park แล้ว เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) อุทยานแห่งชาติตะรุเตา กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ และอ่าวพังงา

สถานที่ตั้ง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) มีพื้นที่ประมาณ 489.31 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 305,820 ไร่ ตั้งอยู่ในอำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ในแนวเส้นรุ้งประมาณ 13 องศา 8 ลิปดาเหนือ ถึง 13 องศา 27 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 10 ลิปดาตะวันออก ถึง 99 องศา 25 ลิปดาตะวันออก สำนักงานตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ 4 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี



อาณาเขตติดต่อทิศเหนือ ติดต่อ ป่าสงวนแห่งชาติฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ท้องที่ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ท้องที่ตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อ ชายแดนสหภาพพม่า ท้องที่ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา และตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อ ป่าสงวนแห่งชาติฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ท้องที่ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคาจังหวัดราชบุรี

อัตรากำลังเจ้าหน้าที่
ข้าราชการ 3 คน, ลูกจ้างประจำ 25 คน, พนักงานราชการ 29 คน,พนักงานจ้างเหมา 50 คน
หน้าที่
ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
  • งานสารบรรณ
  • งานรับ - จ่าย พัสดุและครุภัณฑ์
  • งานรับ - ส่ง โต้ตอบหนังสือราชการ
  • งานเบิกจ่าย หมวดค่าใช้สอยและค่าจ้าง
  • ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
  • งานเฝ้าระวัง
  • งานตรวจปราบปรามและจับกุมการกระทำผิด
    -การบุกรุกพื้นที่
    -การลักลอบล่าสัตว์ป่า
    -การลักลอบทำไม้
    -การลักลอบเก็บหาของป่า
ฝ่ายจัดการสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ
  • งานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านพืชและสัตว์
    1.การศึกษาพันธุ์พืชในป่าเขตร้อน
    2.การศึกษาชนิดและประชากรของสัตว์ป่า
    3.การสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของสัตว์ป่า
  • ผลงานวิจัยที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้วคือ
    1.การศึกษาพันธุ์ไม้ในป่าดิบแล้ง
    2.การศึกษาพันธุ์ไม้ในป่าเต็งรัง
    3.การศึกษาดินโป่ง
    4.การศึกษาชนิดและประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่
  • บรรยายให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่มาเข้าค่ายอนุรักษ์
  • ประชุมชี้แจง ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ ในการที่จะอยู่ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนที่อยู่รอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
  • จัดแสดงนิทรรศการป่าไม้
  • ผลิตและแจกเอกสารเผยแพร่
ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ
  • กิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำ
  • กิจกรรมการสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสัตว์
  • กิจกรรมการฟื้นฟูสภาพป่า
หน่วยพิทักษ์ป่า
ภารกิจและหน้าที่ในการตรวจลาดตระเวนป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ในพื้นที่รับผิดชอบ ดูแลเก็บรักษาของกลางและอุปกรณ์ การกระทำผิดในคดีต่าง ๆ ดูแลรักษาพัสดุครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้างที่ใช้ประจำหน่วยพิทักษ์ป่า จัดตั้งเวรยามดูแลรักษาความเรียบร้อย และความปลอดภัยของหน่วยงาน ซึ่งมีหน่วยพิทักษ์ป่า 6 หน่วย คือ
  1. หน่วยพิทักษ์ป่าพุน้ำร้อน ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
  2. หน่วยพิทักษ์ป่าลำบัวทอง ต.บ้านคา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
  3. หน่วยพิทักษ์ป่าสวนผึ้ง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  4. หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยม่วง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  5. หน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  6. หน่วยพิทักษ์ป่าหนองตาดั้ง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

หน้าที่สำคัญของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
  • ออกตรวจปราบปรามในบริเวณพื้นที่ที่รับผิดชอบโดยรอบ
  • มีการนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้
  • มีการประชาสัมพันธ์ ประชุม ชี้แจงเกี่ยวกับข่าวสาร การอนุรักษ์ให้กับชาวบ้านที่อยู่รอบๆ เขตฯ แม่น้ำภาชี ได้รับทราบทุกเดือน
  • อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เข้าเยี่ยมหรือขอใช้สถานที่ ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่เขตฯ แม่น้ำภาชี
ลักษณะทางชีวภาพ
ชนิดป่า ป่าดิบชื้น, ป่าดิบแล้ง, ป่าเบญจพรรณ, ป่าเต็งรัง
สัตว์ป่า พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มี 21 วงศ์ 43 ชนิด
  • สัตว์จำพวกนก มี 55 วงศ์ 212 ชนิด
  • สัตว์เลื้อยคลาน มี 9 วงศ์ 16 ชนิด
  • สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มี 4 วงศ์ 14 ชนิด
สัตว์ป่าชนิดเด่น เลียงผา, เก้งหม้อ, นกเงือก
สัตว์ป่าที่มีมาก เก้ง, ค่างเทา, ลิงเสน, นกขุนทอง, หมีคน, สมเสร็จ, กระทิง , วัวแดง, นกหัวขวาน

สภาพทั่วไป
สภาพทั่วไปของพื้นที่ประกอบด้วย ภูเขาสูงสลับซับซ้อน มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ เขาพุน้ำร้อน มีระดับความสูงประมาณ 1,062 เมตรจากระดับน้ำทะเล รองลงมาคือยอดเขาใหญ่ มีระดับความสูงประมาณ 1,055 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และเขาจมูกสูงประมาณ 955 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ภูเขาต่างๆ
บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำภาชี ซึ่งประกอบด้วย ห้วยต้องกินเจ้า และห้วยพุระกำ นอกจากนี้แม่น้ำภาชีทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ยังเป็นแหล่งกำเนิด ห้วยน้ำพุร้อน ห้วยสวนพลู ห้วยจารุณีย์ ห้วยลำบัวทอง ห้วยน้ำใส ไหลลงห้วยท่าเคย ในท้องที่ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา ตำบลท่าเคย ซึ่งต่างก็ไหลลงรวมกับแม่น้ำภาชีที่ตำบลสวนผึ้ง และไหลออกสู่แม่น้ำแควน้อยที่จังหวัดกาญจนบุรี มีความยาวเฉพาะในเขตจังหวัดราชบุรี 80 กิโลเมตร เพื่อออกสู่แม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดราชบุรี
สภาพภูมิอากาศ
เป็นบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์ตำ เพราะอยู่ในเขตเงาฝน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,548 มิลลิเมตร บางปีมีปริมาณน้ำฝนรวมทั้งปี 246.3 มิลลิเมตร สำหรับการกระจายของปริมาณน้ำฝนเป็นรายเดือน มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด เดือน ตุลาคม รองลงมาคือ เดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน


ทรัพยากรป่าไม้ลักษณะภูมิประเทศของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ช่วงชั้นความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 200 – 1,062 เมตร ทำให้เกิดชนิดป่าหลายชนิดกระจายอยู่บนพื้นที่ที่มีความสูงต่าง ๆ กัน ประกอบด้วยป่า 4 ประเภท คือ
  1. ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 27,523.8 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9 ของพื้นที่ โดยมีการกระจายอยู่ทางตอนใต้และตะวันตกของพื้นที่และบริเวณลำห้วยสายใหญ่ ๆ กระจายอยู่ในหลายระดับความสูง เช่น บริเวณ ลำห้วยพุน้ำร้อน ห้วยต้องกินเจ้า ห้วยพุระกำ และหุบเขาจมูก เป็นต้น สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่จะรกทึบ ประกอบไปด้วยไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม หวายและเถาวัลย์ชนิดต่าง ๆ เป็นไม้ที่เป็นดัชนีสำคัญ ได้แก่ ตะเตียนทอง กระบาก หว้า กระทุ่มน้ำ นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้และเฟิร์นอีกหลายชนิด เช่น ชายผ้าสีดา เป็นต้น
  2. ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) สำหรับป่าดิบแล้ง กระจายตัวอยู่ในทั่วพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งเป็นพืชสังคมที่พบมากที่สุดและมีการกระจายตัวมากในตอนบนของแนวขอบพื้นที่ และมีพืชรุ่นสองที่มีการฟื้นตัวกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ชนิดพันธุ์ที่พบมาก เช่น กระเบาค่าง กระเบากลัก หว้า เป็นต้น
  3. ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ครอบคลุมพื้นที่ 55,047.6 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18 ของพื้นที่ พบตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ ลักษณะเด่นที่ปรากฏในป่าชนิดนี้ คือ ป่าโปร่งประกอบด้วยไม้ขนาดกลางจำนวนมาก การผลัดใบของพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าชนิดนี้ เพื่อลดอัตราการคายน้ำในช่วงปริมาณความชุ่มชื้นในดินมีน้อย พันธุ์ไม้จะเริ่มทิ้งใบในช่วงปลายเดือนธันวาคม และจะค่อย ๆ ผลิใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ป่าชนิดนี้มักจะมีไฟป่าเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งเพราะมีไผ่อยู่มาก พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะแบก เสลา ประดู่ มะค่าโมง ขี้อ้าย แดง เก็ดดำ เป็นต้น ส่วนไม้พื้นล่างประกอบด้วย สาบเสือ หญ้า เถาวัลย์ต่าง ๆ และไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ เช่น ไผ่รวก ไผ่ป่า ไผ่บง
  4. ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ครอบคลุมพื้นที่ 18,349.2 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6 ของพื้นที่ ป่าชนิดนี้จะพบทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอยู่ถัดจากป่าเบญจพรรณออกมา ดินจะมีลักษณะเป็นทรายและลูกรัง ลักษณะโครงสร้างของป่าชนิดนี้จะเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลางกระจายอยู่ทั่วไป และมีหญ้าชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไปเช่นกัน ไม้เด่นขององค์ประกอบโครงสร้างของป่าชนิดนี้ได้แก่ ไม้เต็ง รัง เหียง พลวง กว้าว พะยอม ส่วนไม้วงศ์อื่น ๆ ที่พบ เช่น มะขามป้อม รักเขา ไข่เต่า ตะแบกแดง เป็นต้น
ทรัพยากรสัตว์ป่า
สัตว์ป่าสงวนที่หายาก เช่น สมเสร็จ เก้งหม้อ ส่วนใหญ่พบบริเวณตอนล่างพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เลียงผา พบในบริเวณภูเขาสูงชันทั่วไปของพื้นที่เขตฯ เช่น เขาพุน้ำร้อน เขาจารุณีย์ เขาลำบัวทอง สัตว์อื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ กระทิง หมี วัวแดง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณป่าดิบแล้งตอนล่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เสือ เก้ง กวาง และสัตว์เล็ก ๆ พบกระจายทั่วไปของพื้นที่
สำหรับ นก ที่สำคัญอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี บริเวณตอนกลางและตอนล่าง ที่มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ สามารถพบเห็นนกได้หลายชนิด เช่น นกแก้ว นกแกง นกกาฮัง นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกสีน้ำตาล นกแซงแซวสวรรค์ นกแก๊ก พบในบริเวณลำห้วยสวนพลู ลำห้วย พุน้ำร้อน นกจาบคาเคราแดง พบในบริเวณเขตฯ แม่น้ำภาชีและหลังสำนักงานเขตฯ แม่น้ำภาชี และนกชนิดอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น จำนวน 186 ชนิด
แหล่งท่องเทียวที่น่าสนใจ
  • พุน้ำร้อน อยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านคา
  • น้ำตกห้วยสวนพลู อยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านคา
  • น้ำตกจารุณีย์ อยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านคา
  • น้ำตกซับเตย อยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านคา
  • น้ำตกพุระกำ อยู่ในพื้นที่ อำเภอสวนผึ้ง
  • แก่งส้มแมว อยู่ในพื้นที่ อำเภอสวนผึ้ง
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
  1. เส้นทางห้วยสวนพลู ระยะทาง 5 กิโลเมตร
  2. เส้นทางห้วยพุน้ำร้อน ระยะทาง 4 กิโลเมตร
  3. เส้นทางสมุนไพรไทย ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร
  4. เส้นทางผาผึ้ง ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร
  5. เส้นทางน้ำตกซับเตย ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร
โครงการต่างๆ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
  1. โครงการค่ายอนุรักษ์รักป่าภาชี
  2. โครงการฝึกอบรมการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร
  3. โครงการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และพัฒนาวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า



ดูเพิ่มเติม
เส้นทางศึกษาธรรมชาติใหม่ ห้วยพุน้ำร้อน
ความหลากหลายทางชีวภาพ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
คณะสื่อมวลชนในจังหวัด เที่ยวชมบรรยากาศในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี


ที่มา :
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี. (2553). สไลด์ประกอบการบรรยาย เมื่อ 4 มิ.ย.2553.
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ยุคแห่งการทำลายและสูญสิ้นทรัพยากร

เขียนโดย สุดารา สุจฉายา และสาธิมา พุ่มศิริ

การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในราชบุรีช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการขนย้ายขายออกไปนอกท้องถิ่นและบุกเบิกพื้นที่เกษตรให้กว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ยังนับได้ว่าอยู่ในขอบเขตจำกัด จนกระทั่งเมือระบบเศรษฐกิจไทยผูกติดกับเศรษฐกิจโลก มุ่งผลิตเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาด ทรัพยากรจึงเริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสนองต่อปรัชญาการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นนำทรัพยากรออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ของราชบุรี จึงถูกกอบโกยและทำลายอย่างรวดเร็วนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

"ผมมาตอน 2498 จอมบึงตอนนั้นเป็นป่าจริงๆ ถนนสายราชบุรี-จอมบึง ยังเป็นลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ หน้าฝนรถเข้าไม่ได้เลย..ลำบาก ถัดจากฝั่งถนนเข้าไปก็เป็นป่าหมด..สมบูรณ์มาก มีไม้ใหญ่ขึ้นสูงจนทึบบดบังแดด ตามห้วยมีไม้ยางขึ้น ส่วนบนเขาเป็นไม้รวกไม้ไผ่ขึ้นคลุม พื้นป่ามีเฟิน มีเห็ดมาก สินค้าที่ออกจากจอมบึงแต่ก่อนเป็นพวกหน่อไม้ เห็ดเผาะ เห็ดโคน ฯลฯ" อาจารย์สุรินทร์ เหลือละมัย อาจารย์ใหญ่โรงเรียนชุมชนจอมบึง อ.จอมบึง อายุ 60 ปี

"ตำบลสวนผึ้งเมื่อตอนผมเข้ามานั้น (2506) ป่ายังสมบูรณ์..เป็นป่าเบญจพรรณ ไม้เตี้ย ไม่สูงนัก พื้นราบเป็นไม้ไผ่ ไม้รวกมีมากทีเดียว อย่างแถบนี้ ไม้มะค่าโมงเป็นไม้ที่มีราคา นอกนั้นก็เป็นป่าไม้เต็ง ไม้แดง ไม้รัง..." สมนึก บุญมั่ง ผู้ใหญ่บ้านทุ่งเจดีย์ ตำบลสวนผึ้ง อายุ 55 ปี

นี่คือคำบอกเล่าถึงความสมบูรณ์ของป่าไม้ในราชบุรี เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน ซึ่งเขตพื้นที่ป่าของจังหวัดจะครอบคลุมอยู่แถบตะวันตก ตั้งแต่อำเภอจอมบึงเข้าไปในเขตอำเภอสวนผึ้งจรดชายแดนต่อกับพื้นที่ป่าของประเทศพม่า แล้วถัดลงมาทางตอนใต้กินพื้นที่เข้าไปในเขตอำเภอปากท่อจนเชื่อมต่อกับป่าในเขตจังหวัดเพชรบุรี

ทว่ามาวันนี้ พื้นที่ป่าสมบูรณ์ของราชบุรีเหลือเพียง 25.72 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่จังหวัดทั้งหมด (สถิติจากคู่มือการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ทั่วประเทศ พ.ศ.2535-2539 โดยกรมป่าไม้) ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้านต่างยืนยันว่า สาเหตุแห่งการสูญเสียพื้นที่ป่านั้นมาจากสาเหตุทำเหมืองแร่ ทำไร่ และตัดไม้ทำฝืน เผาถ่านเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาและอุตสาหกรรมผลิตปูนขาวปูนแดง ซึ่งเป็นกิจการที่รุ่งเรืองมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเขตสวนผึ้ง แม้จะมีการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่มานานแล้ว แต่กินพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก เนื่องจากวิธีการขุดแร่ยังใช้แรงงานคน จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น เพราะการผลิตอาวุธจำเป็นต้องใช้ดีบุกเป็นส่วนผสมสำคัญ ประกอบกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเหมืองเริ่มพัฒนา มีการนำเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องยนต์ดีเซล และเครื่องกลหนักมาใช้ในการทำเหมือง

เมื่อสงครามโลกยุติ การขอประทานบัตรทำเหมืองดีบุกในสวนผึ้งก็เพิ่มขึ้น พื้นที่การทำเหมืองขยายกว้างขวางออกไป มีการว่าจ้างคนงานทำเหมืองจำนวนมาก ว่ากันว่า ในเวลานั้นมีคนงานในพื้นที่จำนวนไม่ต่ำกว่า 500-600 คน บริษัททำเหมืองยังลงทุนสร้างทางตัดถนนเข้าสู่พื้นที่ป่าเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงขนเครื่องจักรกลเข้าไปในเหมืองและขนส่งแร่ออกนอกพื้นที่

นอกจากนี้คนในจังหวัดใกล้เคียงได้อพยพเข้ามาขออนุญาตเจ้าของเหมืองเข้าทำกินในเขตเหมืองต่างๆ ด้วย โดยเข้าไปหาแร่เอง และเมื่อร่อนได้ก็ขายให้กับเหมือง พื้นที่ทำเหมืองในเขตอำเภอสวนผึ้งจึงเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีสภาพเหมือนเมืองย่อมๆ มีไฟฟ้า ประปา วัด โรงเรียน สถานีอนามัย ร้านค้า ตลอดจนบ่อนและบาร์

ยุคนี้เป็นยุคเฟื่องฟู มีเงินสะพัดอย่างมาก อย่างไรก็ดีแม้การทำเหมืองจะไม่ได้มุ่งเข้าไปทำไม้ แต่ในการเปิดพื้นที่ทำเหมืองก็จำเป็นต้องตัดต้นไม้ออกเพื่อเบิกพื้นที่ แต่ละเหมืองใช้รถแทรกเตอร์ไถป่าทิ้งอย่างต่ำราว 200 กว่าไร่ แต่ไม่เกิน 300 ไร่ ไม้ที่ตัดโค่นราชการไม่อนุญาตให้นำออกจากพื้นที่ แต่สามารถนำไปใช้สร้างเรือนพักอาศัย โรงเก็บแร่ รางแร่ ฯลฯ ได้ จึงไม่น่าแปลกที่ป่าบริเวณสวนผึ้งที่เคยหนาแน่นจะกลายเป็นพื้นที่โล่งเวิ้งว้างในเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากนี้ การตัดไม้ ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านตัดเพื่อใช้ในกิจการก่อสร้างบ้านเรือน เผาถ่าน ทำเกวียน ทำไม้หมอนรถไฟ ทำฟืนส่งให้รถไฟ และเตาเผาปูนขาวปูนแดง ก็เป็นที่ต้องการมากขึ้น เมื่ออุตสาหกรรมการทำโอ่งเริ่มเจริญขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ป่าในเขตอำเภอจอมบึงอยู่ประชิดใกล้กับเมืองจึงถูกบุกรุกง่ายกว่าป่าในแหล่งอื่นๆ

ชาวบ้านเล่าว่า ในช่วงนั้นรถบรรทุกซุง วิ่งออกจากป่าแถวจอมบึงเป็นร้อยๆ เที่ยวทุกวัน เพราะการตัดไม้ทำได้ง่าย ด้วยมีเลื่อยยนต์เข้ามาแทนขวาน ขณะเดียวกันก็มีขบวนพรานทั้งจากในตัวเมืองและในเมืองกรุงใช้รถจี๊บตะลุยเข้าป่าล่าสัตว์บ่อยครั้ง

อาจารย์สุรินทร์ เหลือละมัย เล่าว่า บึงใหญ่ในเขตจอมบึงที่เคยมีฝูงนกเป็ดน้ำและนกใหญ่ๆ อย่างตะกรุม ตะกราม กระสา อาศัยอยู่ ถูกนักล่ายิงเล่นแล้วทิ้งซากไว้จำนวนไม่น้อย และในเวลานั้น ทั่วทั้งผืนป่ามีการตั้งเตาเผาถ่านกระจายอยู่เต็มไปหมด และส่วนใหญ่เตาเผาเหล่านี้ นายทุนเป็นผู้ออกเงินทุนให้

หลังจากป่าเปิดเพราะการทำเหมือง และถูกตัดโค่นไปใช้ในกิจการต่างๆ แล้ว เป็นช่วงที่ราคาพืชเศรษฐกิจในตลาดโลกสูงขึ้น ชาวบ้านจึงบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าที่ถูกตัดฟันเพื่อจับจองเป็นพื้นที่ทำไร่ โดยเฉพาะในเขตอำเภอจอมบึง ส่วนในสวนผึ้งระยะแรก ยังไม่มีการเข้าไปจับจอง เนื่องจากพื้นที่เป็นเขาสูงและผ่านการทำเหมืองมาก่อน จึงไม่เหมาะในการทำเกษตรกรรมนัก อีกทั้งเจ้าของเหมืองยังคอยขัดขวางมิให้ผู้อื่นบุกรุกเข้ามาในเขตประทานบัตรของตน

แต่ต่อมาเหมืองหลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากแร่ในพื้นที่ประทานบัตรบางแห่งหมด ประกอบกับราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกตกต่ำ การทำเหมืองไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต จึงเลิกทำ กลายเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยให้พ่อค้าและผู้มีอิทธิพลลักลอบเข้าตัดฟันไม้ อย่างกว้างขวาง เส้นทางขนส่งไม้และแร่กลายเป็นเส้นทางพาชาวบ้านที่ต้องการจับจองพื้นที่รุกเข้าถึงป่าโดยง่าย

ในระยะต้นชาวบ้านไม่กี่ราย เริ่มเบิกพื้นที่ปลูกข้าวไร่และข้าวโพด แต่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพารายได้จากการลักลอบตัดไม้และหาของป่า จนในปี พ.ศ.2521 เมื่อรัฐบาลประกาศกันพื้นที่ป่าสมบูรณ์ฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชีเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ค่อยๆ ทยอยโยกย้ายออกจากพื้นที่ เข้ามาจับจองพื้นที่ป่าที่ถูกเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดเมื่อมีการนำรถไถใหญ่เข้ามารับจ้างไถในพื้นที่ ทำให้การเตรียมพื้นที่ไร่สะดวกขึ้น การปลูกข้าวโพดจึงขยายตัว และที่ดินก็ถูกจับจองเต็มพื้นที่ในช่วงนี้

สำหรับป่าในเขตอำเภอปากท่อ แม้จะอยู่ใกล้ชุมชนเมือง เช่นเดียวกับป่าจอมบึง แต่พื้นที่การสูญเสียกลับน้อยกว่า เนื่องจากเป็นเขตปฏิบัติงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เคยมีเหตุการณ์ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตใกล้ตัวเมืองปากท่อ จึงไม่มีใครกล้ารุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ นอกจากชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิม มีอาชีพหาของป่าและทำไร่เลื่อนลอย จนเมื่อทาง กรป.กลาง ตัดถนนเพื่อความมั่นคงเข้ามาในบริเวณพื้นที่ราบแถบโป่งกระทิง ชัฎป่าหวายที่เป็นรอยต่อกับเขตจอมบึง ก็เริ่มมีชาวบ้านนอกพื้นที่เข้าไปบุกเบิกทำไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลัง ซึ่งขณะนั้นมีราคาสูง

เมื่อสิ้นยุคปราบคอมมิวนิสต์ การบุกรุกจึงเพิ่มขึ้น ยิ่งในช่วงหลังปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา ที่ดินมีราคาดี จึงมีการแบ่งขายเปลี่ยนมือ จากพื้นที่ทำไร่กลายเป็นรีสอร์ตและที่พักตากอากาศ ถึง พ.ศ.2535 ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบห้ารอบ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสทเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับกองทัพบก และหน่วยราชการต่างๆ ได้ดำเนินการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถขึ้น อันประกอบด้วยการจัดสร้าง "สวนป่าสิริกิติ์ภาคกลาง" ณ บริเวณแก่งส้มแมว บ้านห้วยม่วง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง และดำเนินการอนุรักษ์ป่าในบริเวณบ้านไทยประจัน ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จัดเป็น "อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน" ป่าที่เหลือของราชบุรี จึงได้รับการปกป้องจากการบุกรุกทำลาย

ปัจจุบันพื้นที่ป่าสมบูรณ์ในราชบุรีจึงเหลืออยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และบางส่วนของพื้นที่ป่าของราชพัสดุตามแนวพรมแดนไทย-พม่า

"แต่ก่อนแม่น้ำแคบ ไม่กว้างอย่างนี้ เวลาหน้าแล้ง น้ำแห้งงวดแต่ยังมีน้ำไหล หาดทรายโผล่กว้าง ขาวสะอาด มีงานประจำปีที่หาดทรายทุกปี..สนุก ได้ดูงิ้ว ใครๆ ก็มาเที่ยวงานหาดทรายโพธาราม เดี๋ยวนี้หมดแล้ว ไม่มีหาด ทรายถูกดูดไปหมด"

"ตอนยังไม่มีเขื่อน ในแม่น้ำเรือเยอะ ทั้งเรือสินค้า เรือข้าว เรือต่อ ได้ของอะไร อย่างมะพร้าวก็ขึ้นไปส่ง..ไปถึงเมืองกาญจน์ แต่ของจากข้างบนลงมาไม่ค่อยมี มีแต่พวกไม้กระบอกที่ใช้ทำตาล ไม้รวก ไม้ทำโป๊ะแยะ มักผูกมาเป็นแพ ยามมากทีเดียว หลายๆ สิบวา" ป้าสงวน งามดี แม่ค้าขายผักในตลาดโพธาราม อายุ 75 ปี

"คนอาศัยอยู่ริมน้ำมาก ปลูกกระต๊อบเล็กๆ ริมตลิ่ง บ้างก็อยู่ในเรือนแพ ในเรือ จอดเรียงรายกันแน่นหน้าตลาด มาหมดไปก็ตอนเทศบาลทำเขื่อน เวลาหน้าน้ำ น้ำแม่น้ำแดงขุ่นคลัก พุ่งแรงเข้ามาฝั่งตลาด ส่วนทรายไปตกรวมกันด้านฝั่งทหาร"

"สมัยก่อนแม่น้ำแม่กลองสมบูรณ์มาก ปลาเยอะ ตอนลุงเด็กๆ คืนวันเสาร์ไปกับเพื่อนห้าหกคน เอาฉมวก แห สุ่ม ไปจับปลากันแถวหน้าศาลากลางเก่า ตอนเช้ามืดหน้าหนาว เวลาเดินเราะริมตลิ่ง ใช้ไฟฉายส่อง เดี๋ยวก็เจอกุ้ง เจอปลาช่อน เอาหัวมาเกยริมตลิ่งเป็นแถว จับได้ทีละมากๆ ไม่ต้องซื้อกุ้งซื้อปลากันเลย" ลุงเสมอ หงษ์ทอง เจ้าของร้านนางม้วนจำหน่ายยาไทย ตลาดริมน้ำตัวเมืองราชบุรี อายุ 73 ปี

ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ความรื่นรมย์ที่มีต่อสายน้ำแม่กลอง ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ที่เคยผูกพันและอาศัยลำน้ำสายนี้ หล่อเลี้ยงชีวิต มาวันนี้...แม้แม่กลองยังคงไหลหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนสองฝั่งแม่น้ำที่พาดผ่าน แต่แม่กลองจะเหมือนเดิมก็หาไม่ กลับไร้ชีวิต เงียบเหงา ไม่มีปลากุ้งหอยให้จับมากเหมือนแต่ก่อน สภาพความแปรเปลี่ยนเหล่านี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับช่วงเวลาที่เขื่อนทอดตัวปิดกั้นขวางลำน้ำ และโรงงานผุดขึ้นเรียงรายหนาแน่นตามริมฝั่ง

นโยบายการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระตุ้นให้ชาวนาชาวไร่ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและเพิ่มรอบการผลิตจากเดิมที่เคยเพาะปลูกปีละครั้ง มาเป็นปีละสองครั้ง น้ำกลายเป็นทรัพยากรที่จำเป็นอย่างมากในวิถีการผลิตของเกษตรกร รัฐจึงต้องสร้างระบบชลประทานเพื่อสนองต่อพื้นที่การเกษตรที่ขยายตัวกว้างขึ้น ดังนั้น พ.ศ.2512 เขื่อนวชิราลงกรณ์ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เขื่อนแห่งแรกในลำน้ำแม่กลองก็เปิดใช้งาน ตามาด้วยเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ พ.ศ.2521 และเขื่อนเขาแหลม อ.ทองผาภูมิ พ.ศ.2528 ตามลำดับ

การสร้างเขื่อนแม้จะก่อให้เกิดเครือข่ายชลประทานกว้างขวาง ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของลำน้ำแม่กลอง แต่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของลำน้ำและวิถีของชุมชน ที่อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำแม่กลอง น้ำที่เคยหลากท่วมทุกปีหมดไปพร้อมๆ กับปลาหลายชนิดที่ไม่สามารถฝ่าข้ามเขื่อนเดินทางลงมาหากินตามปลายแม่น้ำ ไม่มีดินตะกอนจากแม่น้ำสูงเป็นนิ้วๆ ทับถมอยู่ตามเรือกสวนไร่นายามน้ำลดเหมือนเคย

เกษตรกรต้องหันมาใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพิ่มความสมบูรณ์ให้พื้นดิน และต้องพึ่งพิงยาฆ่าแมลงในการปราบศัตรูพืชและโรคที่ระบาดทำลายพืชผลอย่างหนักหน่วง หลังจากไม่มีน้ำท่วมทำลายตัวอ่อนของแมลงที่อาศัยในดิน ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรก็ทวีสูงขึ้นจนกลายเป็นภาระหนี้สินในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ โรงงานอุตสาหกรรมจากเมืองหลวง ได้เริ่มขยายตัวเข้ามาก่อตั้งในราชบุรี โดยเฉพาะตามสองฝั่งแม่น้ำ เพราะสะดวกต่อการนำน้ำขึ้นมาประกอบการผลิต อุตสาหกรรมที่สำคัญซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมสีข้าว อุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมทอผ้า นอกจากนั้นยังมีโรงงานขนาดย่อยอีกเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ผลิตอาหารกระป๋อง ผลิตผักผลไม้แห้ง ผลิตเต้าหู้แผ่น ต่อตัวถังรถยนต์ และทำอุปกรณ์เครื่องใช้ในรถยนต์ต่างๆ เป็นต้น

ในปี พ.ศ.2512 เริ่มเกิดสภาวะน้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองอย่างต่อเนื่อง น้ำในแม่น้ำส่งกลิ่นเหม็น มีปลาลอยตายจำนวนมาก และประชาชนไม่สามารถใช้อาบและชำระล้างได้ตามปกติ จนในเดือนเมษายน พ.ศ.2513 ปัญหาน้ำเสียได้ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากโรงงานน้ำตาลในเขตอำเภอบ้านโป่งปล่อยน้ำเหลืออ้อยประมาณ 4,000 ตัน ไหลล้นลงไปในแม่น้ำ ทำให้น้ำเสียตลอดสายไปจนถึงจังหวัดสมุทรสงคราม

รายงานการบันทึกสภาพน้ำเสียของกรมอนามัยระบุว่า น้ำในแม่น้ำเวลานั้นเปลี่ยนสีเหมือนน้ำโคคา-โคล่า ปลาตายลอยฟ่องเป็นแพตลอดลำน้ำ ไม่เว้นแม้แต่ปลาขนาดใหญ่อย่างปลาดุกทะเล และปลากระโห้ น้ำมีกลิ่นเหม็นรุนแรงและเป็นคราบจับตัวเหนียวเมื่อใช้อาบ น้ำประปาซึ่งนำน้ำจากแม่น้ำแม่กลองไปผลิต มีกลิ่นเหม็นและใช้ดื่มไม่ได้เลย

การเน่าเสียของน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ไม่เพียงแต่นำความเสียหายมาสู่นาข้าว สวนผักผลไม้และพืชไร่ต่างๆ รวมถึงอาชีพประมงของประชาชนในสามจังหวัดเท่านั้น ยังทำให้ความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำแม่กลองลดน้อยลง และบางชนิดถึงกับสูญหายไปจากลำน้ำนี้ เช่น กุ้งแม่น้ำตัวใหญ่ๆ ปลายี่สก ปลาสะตือ ปลาเสือตอ ปลากระโห้ ปลาหมูอารีย์ ปลาน้ำหมึก ฯลฯ

อนึ่งการทำลายสภาพแวดล้อมของแม่น้ำแม่กลอง ยังเกิดจากการดูดทรายที่ทำกันเป็นธุรกิจใหญ่ มีเรือดูดทรายตลอดลำน้ำ ตั้งแต่ อ.บ้านโป่ง โพธาราม จนถึง อ.เมืองราชบุรี หาดทรายขาวสะอาดที่เคยเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนราชบุรี เป็นที่จัดงานประจำปี และทำกิจการปลูกถั่วงอก ก็สูญสิ้นไป เพราะตลิ่งทรุดตัวและพังทลายจนทำให้แม่น้ำขยายกว้างขึ้นกว่าเดิม ทรายในลำน้ำแม่กลองถือเป็นทรายชั้นดี ราคาสูง เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่กำลังขยายตัวอย่างมากในเวลานั้น เช่นเดียวกับหินจากเทือกเขางูก็เป็นหินคุณภาพดีที่เป็นที่ต้องการมาตลอด การระเบิดและย่อยหินที่เทือกเขางูเฟื่องฟูมาก จนถึงกับมีเสียงคัดค้านให้คำนึงถึงผลเสียหายที่จะมีต่อโบราณวัตถุสถานในถ้ำต่างๆ บริเวณเทือกเขางู ในที่สุดทางราชการจึงยุติการสัมปทานระเบิดหินที่เขางูในปี พ.ศ.2530
ที่มา :
สุดารา สุจฉายา และสาธิมา พุ่มศิริ .(2541). ยุคแห่งการทำลายและสูญสิ้นทรัพยากร. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 89-101)
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
-ข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาด้านป่าไม้และสัตว์ป่า จ.ราชบุรี
-อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี
-อุทยานธรรมชาติวิทยาตามพระราชดำริฯ
-ลักลอบตัดไม้ราชพัสดุ ราชบุรี
-ราชบุรี อดีตบ้านป่า "โยม..มีงาช้างดีดีบ้างไหม"
-นักล่ายี่สกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
-แกะรอย..พรานล่ากวาง
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี

อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เป็นอุทยานฯ ที่กำหนดจากพื้นที่โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน โดยเป็นพื้นที่ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนพรรษา 5 รอบในปี พ.ศ.2535 เพื่อสนองพระราชปณิธานที่ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ป่าพุยางและป่าพุสามซ้อนและป่าเขากงเกวียน ซึ่งสภาพโดยรวมยังคงความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงสภาพธรรมชาติที่งดงาม และเป็นป่าต้นน้ำลำธารได้เป็นอย่างดี มีเนื้อที่ประมาณ 205,777 ไร่ ในท้องที่ ต.ยางหัก, ต.อ่างหิน, ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ และ ต.บ้านบึง, ต.บ้านคา, ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพโดยทั่วไป เป็นเทือกเขาสูงสลับกับพื้นที่ภูเขาและที่ราบเชิงเขา มียอดเขาสูงสุดชื่อ เขายืด ความสูงประมาณ 806 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยพุไทร ห้วยท่าเคย ห้วยพุน้ำร้อน ลุ่มแม่น้ำประจัน ไหลลงแม่น้ำเพชรบุรี และลุ่มแม่น้ำภาชีไหลลงแม่น้ำแม่กลอง จะมีน้ำไหลตลอดปี แต่ในฤดูแล้งจะมีปริมาณน้อย

ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะอากาศแบบมรสุมเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝน ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว ฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม

ชนิดของป่าและพันธ์ไม้
ลักษณะทั่วไปเป็นป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ มีป่าดิบเขาอยู่ตามยอดเขา นอกจากนี้ยังมีป่าเต็งรังอยู่บางส่วน โดยทั่วไปยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้มีค่าหลายชนิดและพืชสมุนไพรอีกจำนวนมาก ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าผสมผลัดใบ ได้แก่ ประดู่ มะค่าโมง ตะเคียน สมอพิเภก ตะแบก แดง เสลา ตะคร้อ กระบก เป็นต้น ไม้พื้นล่าง ได้แก่ ไผ่ไร่ ไผ่ซาง ไผ่บง ไผ่ข้าวหลาม ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าดิบแล้ง ได้แก่ ยางขาว ยางแดง ตะเคียน ยมหอม จำปาป่ารัก มะม่วงป่า มะหาด แดงดง เติม ฯลฯ

สัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่อาศัย
บริเวณผืนป่าแห่งนี้ ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด สำหรับสัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นได้ในพื้นที่อุทยานฯ ได้แก่ กระจง เก้ง กวาง เม่น หมูป่า หมูหริ่ง อีเห็น หมาใน ชะมด เสือไฟ เสือปลา ค่าง บ่าง พังพอน ค้างคาว กระต่ายป่า กระรอกบิน กระรอก กระแต หมูป่า ชะนี ลิง หมี กระทิง เป็นต้น
นกที่พบเห็น ได้แก่ นกเงือกสีน้ำตาล ซึ่งเป็นนกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ นกกก นกแก๊ก นกกาฮัง นกกาวะ นกเลือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกดำ นกเขาชนิดต่างๆ เหยี่ยวชนิดต่างๆ นกเค้าชนิดต่างๆ นกกระทาดง นกขุนทอง นกแซงแซว นกตะขาบทุ่ง นกหัวขวาน นกก้านตอง นกแซวสวรรค์ ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกยางเขียว นกบั้งรอกใหญ่ ฯลฯ
ปลาที่พบเห็น ได้แก่ ปลาค้อ ปลาตะเพียนทราย ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาซิวหางแดง ปลาก้าง ปลาซิวใบไผ่ ปลาแป้นแก้ว ปลาพลวง ปลาตะเพียนน้ำตก ปลาผีเสื้อติดหิน ปลาใส้ตันตาแดง ฯลฯ

สถานที่ท่องเที่ยวและจุดเด่นที่น่าสนใจ
ลำห้วยไทยประจัน
ตั้งแต่ห้วย 1-ห้วย 5 เป็นโตรกธารและโขดหินที่มีลักษณะแปลกและสวยงาม บริเวณลำห้วยมีแอ่งอาบน้ำเหมาะแก่การพักผ่อนเล่นน้ำ และนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเพื่อชื่นชมความงดงาม ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของสัตว์ป่า จึงเหมาะกับการท่องเที่ยวแบบผจญภัย
น้ำตกไทยประจัน เป็นน้ำตกขนาดสูงประมาณ 8-11 เมตร น้ำตกมีลักษณะเป็นสายน้ำยาวสวยงาม โขดหิน หน้าผาสูงชัน และพันธุ์ไม้จำพวกเฟิร์นและมอสต่างๆ การเดินทางเข้าชมน้ำตกต้องเดินทางด้วยเท้าจากห้วย 5 เป็นระยะทาง 15 กม.
น้ำพุร้อนโป่งกระทิง เป็นบ่อน้ำพุร้อนขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านน้ำพุร้อน ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี อุณหภูมิประมาณ 45 องศาเซลเซียส ที่น่าอัศจรรย์ คือ เมื่อมีเสียงดังแค่ปรบมือก็จะมีพรายน้ำและฟองอากาศผุดขึ้นมาจากบ่อ เป็นบ่อน้ำพุร้อนที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและอาบน้ำแร่เพื่อสุขภาพ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 40 กม.ไปตามทางหลวงหมายเลข 3206 ถึงทางแยกบ้านโป่งกระทิงล่าง เลี้ยวซ้ายไปบ้านพุน้ำร้อนผ่านอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคย มีทางแยกเลี้ยวขวาเข้าไปยังบ่อน้ำพุร้อนระยะทางจากกรุงเทพฯ 186 กม.


การคมนาคม
จากกรุงเทพมหานครไปอุทยานฯ ใช้เส้นทางการเดินทางไปจังหวัดราชบุรี โดยทางรถยนต์ ถนนเพชรเกษม หรือธนบุรี-ปากท่อ(พระราม 2 ) และใช้เส้นทางรถไฟจากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีรถไฟราชบุรี ระยะทางประมาณ 100 กม.จากนั้นไปตามถนนเพชรเกษม ไป อ.ปากท่อ ระยะทางประมาณ 22 กม.เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3206 ระยะทางประมาณ 38 กม. จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปบ้านไทยประจัน ระยะทาง 5 กม.รวมระยะทางจากกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 165 กม.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

  • สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 70110 โทร.0-3221-1025 โทรสาร.0-3230-227
  • สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร.0-2562-0760
  • อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน 110 ม.5 ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี 70140 โทร.08-7165-3278

ที่มา :
-สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง). (2553). แผ่นพับประชาสัมพันธ์อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี. แจกจ่ายในงานกาชาดเที่ยวราชบุรีปี 2553.
-เว็บไซต์ http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=9130

อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาด้านป่าไม้และสัตว์ป่า จ.ราชบุรี

ข้อเท็จจริง
จังหวัดราชบุรี มีเนื่อที่ 3,247,789 ไร่ มีพื้นที่ป่าประเภทต่างๆ ดังนี้

ป่าสงวนแห่งชาติ
จำนวน 7 ป่า เนื้อที่ 1,165,593.75 ไร่ ประกอบด้วย
  1. ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง อ.ปากท่อ อ.โพธาราม อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เนื่อที่ 977,250ไร่
  2. ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาบิน อ.เมือง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื่อที่ 21,250 ไร่
  3. ป่าสงวนแห่งชาติป่าพุยางและป่าพุสามซ้อน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เนื้อที่ 87,656.25 ไร่
  4. ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากรวดและป่าเขาพลอง อ.เมือง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 4,787.50 ไร่
  5. ป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองกลางเนิน อ.เมือง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 150 ไร่
  6. ป่าสงวนแห่งชาติป่ายางด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 71,875 ไร่
  7. ป่าสงวนแห่งชาติป่าซำสาม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เนื่อที่ 2,625 ไร่
พื้นที่ราชพัสดุ ท้องที่ อ.สวนผึ้ง และ อ.จอมบึง เนื้อที่ 500,000 ไร่

การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
พื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

  1. ศูนย์ศึกษาพันธุ์ไม้ป่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี บ้านห้วยม่วง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เนื่อที่ 3,000 ไร่
  2. อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี และป่าสงวนแห่งชาติป่าพุยางและป่าพุสามซ้อน อ.ปากท่อ อ.สวนผึ้ง และ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เนื้อที่ 205,777 ไร่ (พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน)
  3. โครงงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสือมโทรมเขาชะงุ้ม ตามแนวพระราชดำริ ต.เขาชงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื้อที่ 3,264 ไร่
  4. พื้นที่โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยา อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ราชพัสดุ ต.ตะนาวศรี ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 132,905 ไร่
เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อ.สวนผึ้ง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เนื้อที่ 305,820 ไร่ (พื้นที่ทับซ้อนอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 3 แห่ง
  1. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประทับช้าง อ.เมือง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 1,268 ไร่
  2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำระฆังและเขาพระนอน อ.เมือง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 106 ไร่
  3. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำค้างคาวเขาช่องพราน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื้อที่ 77 ไร่
วนอุทยานถ้ำเขาน้อย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื้อที่ 3,000 ไร่

พื้นที่ราชพัสดุ ท้องที่ อ.สวนผึ้ง และ อ.จอมบึง เนื้อที่ 500,000 ไร่

สภาพปัญหา
ปัจจุบันมีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และพื้นที่ราชพัสดุ ใน จ.ราชบุรี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ มีดังนี้
  1. สภาพทางสังคม ความยากจน การขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ป่าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้เพื่อการยังชีพด้วยการแผ้วถางป่า ตัดไม้ และเก็บหาของป่า
  2. สภาพทางเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ทรัพยากรป่าไม้และที่ดินมีราคาแพงขึ้น ทำให้มีการลักลอบตัดไม้ และบุกรุกพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น
  3. นโยบายทางการเมืองและการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไป หลายกรณีไม่สามารถยุติปัญหาการทำลายป่าได้ เพราะราษฎรคิดว่า เมื่อแผ้วทางป่าจนเสื่อมโทรมแล้วรัฐจะให้สิทธิ์ในที่ดิน จึงหาทางบุกรุกแผ้วถางป่ามากขึ้น
  4. ช่องว่างของระเบียบและกฏหมาย รวมทั้งการจัดการด้านทรัพยากรป่าไม้ ยังไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น เป็นปัญหาในทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)
มีหน่วยงานในความรับผิดชอบ ดังนี้
  1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รับผิดชอบพื้นที่ ต.บ้านบึง อ.บ้านคา ต.สวนผึ้ง ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จำนวน 305,820 ไร่
  2. ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ 1 (พุน้ำร้อน) รับผิดชอบพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จำนวนเนื้อที่ 67,500 ไร่
  3. ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ 2 (โป่งพรม) รับผิดชอบพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จำนวนเนื้อที่ 74,177 ไร่
  4. ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ 3 (ตากแดด) รับผิดชอบพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จำนวนเนื้อที่ 64,100 ไร่
  5. ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ 4 (ห้วยไทร) รับผิดชอบพื้นที่บางส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จำนวนเนื้อที่ 52,200 ไร่
  6. สายตรวจป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฏหมายว่าด้วยการป่าไม้สายที่ 2 ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการบุกรุก ยึดถือครอบครอง การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3
  7. สายตรวจป้องกันและปราบปรามด้านสัตว์ป่าสายที่ 1 ปฏิบัติงานด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่าในท้องที่จังหวัดราชบุรี
สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) มีหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ คือ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ รบ.2, รบ.3, รบ.4 รับผิดชอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ในท้องที่ จ.ราชบุรี ดังนี้
  1. หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ รบ.2 (บ่อหวี) รับผิดชอบพื้นที่ จำนวน 281,068.75 ไร่ แยกเป็น
    -ป่าสงวนฯ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ต.ตะนาวศรี ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง ต.รางบัว ต.ด่านทับตะโก ต.แก้มอ้น ต.เบิกไพร ต.ปากช่อง อ.จอมบึง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จำนวน 206,568.75 ไร่
    -ป่าสงวนฯ ป่ายางดานทับตะโก อ.จอมบึง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จำนวน 71,875 ไร่
    -ป่าสงวนฯ ป่าซำสาม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 2,625 ไร่
    -พื้นที่อื่นๆ ท้องที่ อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง อ.โพธาราม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
  2. หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ รบ.3 (พุยาง) รับผิดชอบพื้นที่ จำนวน 291,300 ไร่ แยกเป็น
    -ป่าสงวนฯ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี จำนวน177,456.25
    -ป่าสงวนฯ ป่าพุยางและป่าพุสามซ้อน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี 87,656.25 ไร่
    -ป่าสงวนฯ ป่าเขาบิน อ.จอมบึง อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 21,250 ไร่
    -ป่าสงวนฯ ป่าเขากรวดและป่าเขาพลอง อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 4,787.50 ไร่
    -ป่าสงวนฯ ป่าหนองกลางเนิน อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 150 ไร่
    -พื้นที่อื่นๆ ท้องที่ อ.ปากท่อ อ.เมือง อ.บางแพ อ.วัดเพลง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
  3. หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ รบ.4 (โป่งกระทิง) รับผิดชอบพื้นที่ ป่าสงวนฯ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ต.บ้านคา ต.บ้านบึง ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง ต.รางบัว อ.จอมบึง และพื้นที่อื่นๆ ท้องที่ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี จำนวน 337,562.50 ไร่
  4. สายตรวจปราบปรามการกระทำผิดกฏหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ ชุดเคลื่อนที่เร็ว 2 ปฏิบัตรงานด้านการป้องกันและปราบปรามการบุกรุก ยึดถือครอบครองการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม่ที่ 10 (ราชบุรี)
สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ราชบุรี มีพื้นที่ราชพัสดุในความรับผิดชอบ จำนวน 500,000 ไร่ มอบหมายให้หน่วยทหารรับผิดชอบ ดังนี้ง
  1. กรมการทหารช่าง รับผิดชอบดูแลและใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุ เนื้อที่ 239,000 ไร่
  2. กองพลพัฒนาที่ 1 รับผิดชอบดูแลและใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุ เนื้อที่ 261,000 ไร่

ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า จ.ราชบุรี ครั้งที่ 1/2553 เมื่อ 9 ก.พ.2553 ณ ห้องประชุมหลวงยกกระบัตร ศาลากลาง จ.ราชบุรี
อ่านต่อ >>