เขียนโดย สุดารา สุจฉายา และสาธิมา พุ่มศิริ
อ่านต่อ >>
การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในราชบุรีช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการขนย้ายขายออกไปนอกท้องถิ่นและบุกเบิกพื้นที่เกษตรให้กว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ยังนับได้ว่าอยู่ในขอบเขตจำกัด จนกระทั่งเมือระบบเศรษฐกิจไทยผูกติดกับเศรษฐกิจโลก มุ่งผลิตเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาด ทรัพยากรจึงเริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสนองต่อปรัชญาการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นนำทรัพยากรออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ของราชบุรี จึงถูกกอบโกยและทำลายอย่างรวดเร็วนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
"ผมมาตอน 2498 จอมบึงตอนนั้นเป็นป่าจริงๆ ถนนสายราชบุรี-จอมบึง ยังเป็นลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ หน้าฝนรถเข้าไม่ได้เลย..ลำบาก ถัดจากฝั่งถนนเข้าไปก็เป็นป่าหมด..สมบูรณ์มาก มีไม้ใหญ่ขึ้นสูงจนทึบบดบังแดด ตามห้วยมีไม้ยางขึ้น ส่วนบนเขาเป็นไม้รวกไม้ไผ่ขึ้นคลุม พื้นป่ามีเฟิน มีเห็ดมาก สินค้าที่ออกจากจอมบึงแต่ก่อนเป็นพวกหน่อไม้ เห็ดเผาะ เห็ดโคน ฯลฯ" อาจารย์สุรินทร์ เหลือละมัย อาจารย์ใหญ่โรงเรียนชุมชนจอมบึง อ.จอมบึง อายุ 60 ปี
"ตำบลสวนผึ้งเมื่อตอนผมเข้ามานั้น (2506) ป่ายังสมบูรณ์..เป็นป่าเบญจพรรณ ไม้เตี้ย ไม่สูงนัก พื้นราบเป็นไม้ไผ่ ไม้รวกมีมากทีเดียว อย่างแถบนี้ ไม้มะค่าโมงเป็นไม้ที่มีราคา นอกนั้นก็เป็นป่าไม้เต็ง ไม้แดง ไม้รัง..." สมนึก บุญมั่ง ผู้ใหญ่บ้านทุ่งเจดีย์ ตำบลสวนผึ้ง อายุ 55 ปี
นี่คือคำบอกเล่าถึงความสมบูรณ์ของป่าไม้ในราชบุรี เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน ซึ่งเขตพื้นที่ป่าของจังหวัดจะครอบคลุมอยู่แถบตะวันตก ตั้งแต่อำเภอจอมบึงเข้าไปในเขตอำเภอสวนผึ้งจรดชายแดนต่อกับพื้นที่ป่าของประเทศพม่า แล้วถัดลงมาทางตอนใต้กินพื้นที่เข้าไปในเขตอำเภอปากท่อจนเชื่อมต่อกับป่าในเขตจังหวัดเพชรบุรี
ทว่ามาวันนี้ พื้นที่ป่าสมบูรณ์ของราชบุรีเหลือเพียง 25.72 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่จังหวัดทั้งหมด (สถิติจากคู่มือการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ทั่วประเทศ พ.ศ.2535-2539 โดยกรมป่าไม้) ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้านต่างยืนยันว่า สาเหตุแห่งการสูญเสียพื้นที่ป่านั้นมาจากสาเหตุทำเหมืองแร่ ทำไร่ และตัดไม้ทำฝืน เผาถ่านเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาและอุตสาหกรรมผลิตปูนขาวปูนแดง ซึ่งเป็นกิจการที่รุ่งเรืองมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในเขตสวนผึ้ง แม้จะมีการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่มานานแล้ว แต่กินพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก เนื่องจากวิธีการขุดแร่ยังใช้แรงงานคน จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น เพราะการผลิตอาวุธจำเป็นต้องใช้ดีบุกเป็นส่วนผสมสำคัญ ประกอบกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเหมืองเริ่มพัฒนา มีการนำเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องยนต์ดีเซล และเครื่องกลหนักมาใช้ในการทำเหมือง
เมื่อสงครามโลกยุติ การขอประทานบัตรทำเหมืองดีบุกในสวนผึ้งก็เพิ่มขึ้น พื้นที่การทำเหมืองขยายกว้างขวางออกไป มีการว่าจ้างคนงานทำเหมืองจำนวนมาก ว่ากันว่า ในเวลานั้นมีคนงานในพื้นที่จำนวนไม่ต่ำกว่า 500-600 คน บริษัททำเหมืองยังลงทุนสร้างทางตัดถนนเข้าสู่พื้นที่ป่าเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงขนเครื่องจักรกลเข้าไปในเหมืองและขนส่งแร่ออกนอกพื้นที่
นอกจากนี้คนในจังหวัดใกล้เคียงได้อพยพเข้ามาขออนุญาตเจ้าของเหมืองเข้าทำกินในเขตเหมืองต่างๆ ด้วย โดยเข้าไปหาแร่เอง และเมื่อร่อนได้ก็ขายให้กับเหมือง พื้นที่ทำเหมืองในเขตอำเภอสวนผึ้งจึงเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีสภาพเหมือนเมืองย่อมๆ มีไฟฟ้า ประปา วัด โรงเรียน สถานีอนามัย ร้านค้า ตลอดจนบ่อนและบาร์
ยุคนี้เป็นยุคเฟื่องฟู มีเงินสะพัดอย่างมาก อย่างไรก็ดีแม้การทำเหมืองจะไม่ได้มุ่งเข้าไปทำไม้ แต่ในการเปิดพื้นที่ทำเหมืองก็จำเป็นต้องตัดต้นไม้ออกเพื่อเบิกพื้นที่ แต่ละเหมืองใช้รถแทรกเตอร์ไถป่าทิ้งอย่างต่ำราว 200 กว่าไร่ แต่ไม่เกิน 300 ไร่ ไม้ที่ตัดโค่นราชการไม่อนุญาตให้นำออกจากพื้นที่ แต่สามารถนำไปใช้สร้างเรือนพักอาศัย โรงเก็บแร่ รางแร่ ฯลฯ ได้ จึงไม่น่าแปลกที่ป่าบริเวณสวนผึ้งที่เคยหนาแน่นจะกลายเป็นพื้นที่โล่งเวิ้งว้างในเวลาอันรวดเร็ว
นอกจากนี้ การตัดไม้ ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านตัดเพื่อใช้ในกิจการก่อสร้างบ้านเรือน เผาถ่าน ทำเกวียน ทำไม้หมอนรถไฟ ทำฟืนส่งให้รถไฟ และเตาเผาปูนขาวปูนแดง ก็เป็นที่ต้องการมากขึ้น เมื่ออุตสาหกรรมการทำโอ่งเริ่มเจริญขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ป่าในเขตอำเภอจอมบึงอยู่ประชิดใกล้กับเมืองจึงถูกบุกรุกง่ายกว่าป่าในแหล่งอื่นๆ
ชาวบ้านเล่าว่า ในช่วงนั้นรถบรรทุกซุง วิ่งออกจากป่าแถวจอมบึงเป็นร้อยๆ เที่ยวทุกวัน เพราะการตัดไม้ทำได้ง่าย ด้วยมีเลื่อยยนต์เข้ามาแทนขวาน ขณะเดียวกันก็มีขบวนพรานทั้งจากในตัวเมืองและในเมืองกรุงใช้รถจี๊บตะลุยเข้าป่าล่าสัตว์บ่อยครั้ง
อาจารย์สุรินทร์ เหลือละมัย เล่าว่า บึงใหญ่ในเขตจอมบึงที่เคยมีฝูงนกเป็ดน้ำและนกใหญ่ๆ อย่างตะกรุม ตะกราม กระสา อาศัยอยู่ ถูกนักล่ายิงเล่นแล้วทิ้งซากไว้จำนวนไม่น้อย และในเวลานั้น ทั่วทั้งผืนป่ามีการตั้งเตาเผาถ่านกระจายอยู่เต็มไปหมด และส่วนใหญ่เตาเผาเหล่านี้ นายทุนเป็นผู้ออกเงินทุนให้
หลังจากป่าเปิดเพราะการทำเหมือง และถูกตัดโค่นไปใช้ในกิจการต่างๆ แล้ว เป็นช่วงที่ราคาพืชเศรษฐกิจในตลาดโลกสูงขึ้น ชาวบ้านจึงบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าที่ถูกตัดฟันเพื่อจับจองเป็นพื้นที่ทำไร่ โดยเฉพาะในเขตอำเภอจอมบึง ส่วนในสวนผึ้งระยะแรก ยังไม่มีการเข้าไปจับจอง เนื่องจากพื้นที่เป็นเขาสูงและผ่านการทำเหมืองมาก่อน จึงไม่เหมาะในการทำเกษตรกรรมนัก อีกทั้งเจ้าของเหมืองยังคอยขัดขวางมิให้ผู้อื่นบุกรุกเข้ามาในเขตประทานบัตรของตน
แต่ต่อมาเหมืองหลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากแร่ในพื้นที่ประทานบัตรบางแห่งหมด ประกอบกับราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกตกต่ำ การทำเหมืองไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต จึงเลิกทำ กลายเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยให้พ่อค้าและผู้มีอิทธิพลลักลอบเข้าตัดฟันไม้ อย่างกว้างขวาง เส้นทางขนส่งไม้และแร่กลายเป็นเส้นทางพาชาวบ้านที่ต้องการจับจองพื้นที่รุกเข้าถึงป่าโดยง่าย
ในระยะต้นชาวบ้านไม่กี่ราย เริ่มเบิกพื้นที่ปลูกข้าวไร่และข้าวโพด แต่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพารายได้จากการลักลอบตัดไม้และหาของป่า จนในปี พ.ศ.2521 เมื่อรัฐบาลประกาศกันพื้นที่ป่าสมบูรณ์ฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชีเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ค่อยๆ ทยอยโยกย้ายออกจากพื้นที่ เข้ามาจับจองพื้นที่ป่าที่ถูกเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดเมื่อมีการนำรถไถใหญ่เข้ามารับจ้างไถในพื้นที่ ทำให้การเตรียมพื้นที่ไร่สะดวกขึ้น การปลูกข้าวโพดจึงขยายตัว และที่ดินก็ถูกจับจองเต็มพื้นที่ในช่วงนี้
สำหรับป่าในเขตอำเภอปากท่อ แม้จะอยู่ใกล้ชุมชนเมือง เช่นเดียวกับป่าจอมบึง แต่พื้นที่การสูญเสียกลับน้อยกว่า เนื่องจากเป็นเขตปฏิบัติงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เคยมีเหตุการณ์ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตใกล้ตัวเมืองปากท่อ จึงไม่มีใครกล้ารุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ นอกจากชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิม มีอาชีพหาของป่าและทำไร่เลื่อนลอย จนเมื่อทาง กรป.กลาง ตัดถนนเพื่อความมั่นคงเข้ามาในบริเวณพื้นที่ราบแถบโป่งกระทิง ชัฎป่าหวายที่เป็นรอยต่อกับเขตจอมบึง ก็เริ่มมีชาวบ้านนอกพื้นที่เข้าไปบุกเบิกทำไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลัง ซึ่งขณะนั้นมีราคาสูง
เมื่อสิ้นยุคปราบคอมมิวนิสต์ การบุกรุกจึงเพิ่มขึ้น ยิ่งในช่วงหลังปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา ที่ดินมีราคาดี จึงมีการแบ่งขายเปลี่ยนมือ จากพื้นที่ทำไร่กลายเป็นรีสอร์ตและที่พักตากอากาศ ถึง พ.ศ.2535 ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบห้ารอบ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสทเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับกองทัพบก และหน่วยราชการต่างๆ ได้ดำเนินการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถขึ้น อันประกอบด้วยการจัดสร้าง "สวนป่าสิริกิติ์ภาคกลาง" ณ บริเวณแก่งส้มแมว บ้านห้วยม่วง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง และดำเนินการอนุรักษ์ป่าในบริเวณบ้านไทยประจัน ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จัดเป็น "อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน" ป่าที่เหลือของราชบุรี จึงได้รับการปกป้องจากการบุกรุกทำลาย
ปัจจุบันพื้นที่ป่าสมบูรณ์ในราชบุรีจึงเหลืออยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และบางส่วนของพื้นที่ป่าของราชพัสดุตามแนวพรมแดนไทย-พม่า
"แต่ก่อนแม่น้ำแคบ ไม่กว้างอย่างนี้ เวลาหน้าแล้ง น้ำแห้งงวดแต่ยังมีน้ำไหล หาดทรายโผล่กว้าง ขาวสะอาด มีงานประจำปีที่หาดทรายทุกปี..สนุก ได้ดูงิ้ว ใครๆ ก็มาเที่ยวงานหาดทรายโพธาราม เดี๋ยวนี้หมดแล้ว ไม่มีหาด ทรายถูกดูดไปหมด"
"ตอนยังไม่มีเขื่อน ในแม่น้ำเรือเยอะ ทั้งเรือสินค้า เรือข้าว เรือต่อ ได้ของอะไร อย่างมะพร้าวก็ขึ้นไปส่ง..ไปถึงเมืองกาญจน์ แต่ของจากข้างบนลงมาไม่ค่อยมี มีแต่พวกไม้กระบอกที่ใช้ทำตาล ไม้รวก ไม้ทำโป๊ะแยะ มักผูกมาเป็นแพ ยามมากทีเดียว หลายๆ สิบวา" ป้าสงวน งามดี แม่ค้าขายผักในตลาดโพธาราม อายุ 75 ปี
"คนอาศัยอยู่ริมน้ำมาก ปลูกกระต๊อบเล็กๆ ริมตลิ่ง บ้างก็อยู่ในเรือนแพ ในเรือ จอดเรียงรายกันแน่นหน้าตลาด มาหมดไปก็ตอนเทศบาลทำเขื่อน เวลาหน้าน้ำ น้ำแม่น้ำแดงขุ่นคลัก พุ่งแรงเข้ามาฝั่งตลาด ส่วนทรายไปตกรวมกันด้านฝั่งทหาร"
"สมัยก่อนแม่น้ำแม่กลองสมบูรณ์มาก ปลาเยอะ ตอนลุงเด็กๆ คืนวันเสาร์ไปกับเพื่อนห้าหกคน เอาฉมวก แห สุ่ม ไปจับปลากันแถวหน้าศาลากลางเก่า ตอนเช้ามืดหน้าหนาว เวลาเดินเราะริมตลิ่ง ใช้ไฟฉายส่อง เดี๋ยวก็เจอกุ้ง เจอปลาช่อน เอาหัวมาเกยริมตลิ่งเป็นแถว จับได้ทีละมากๆ ไม่ต้องซื้อกุ้งซื้อปลากันเลย" ลุงเสมอ หงษ์ทอง เจ้าของร้านนางม้วนจำหน่ายยาไทย ตลาดริมน้ำตัวเมืองราชบุรี อายุ 73 ปี
ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ความรื่นรมย์ที่มีต่อสายน้ำแม่กลอง ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ที่เคยผูกพันและอาศัยลำน้ำสายนี้ หล่อเลี้ยงชีวิต มาวันนี้...แม้แม่กลองยังคงไหลหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนสองฝั่งแม่น้ำที่พาดผ่าน แต่แม่กลองจะเหมือนเดิมก็หาไม่ กลับไร้ชีวิต เงียบเหงา ไม่มีปลากุ้งหอยให้จับมากเหมือนแต่ก่อน สภาพความแปรเปลี่ยนเหล่านี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับช่วงเวลาที่เขื่อนทอดตัวปิดกั้นขวางลำน้ำ และโรงงานผุดขึ้นเรียงรายหนาแน่นตามริมฝั่ง
นโยบายการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระตุ้นให้ชาวนาชาวไร่ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและเพิ่มรอบการผลิตจากเดิมที่เคยเพาะปลูกปีละครั้ง มาเป็นปีละสองครั้ง น้ำกลายเป็นทรัพยากรที่จำเป็นอย่างมากในวิถีการผลิตของเกษตรกร รัฐจึงต้องสร้างระบบชลประทานเพื่อสนองต่อพื้นที่การเกษตรที่ขยายตัวกว้างขึ้น ดังนั้น พ.ศ.2512 เขื่อนวชิราลงกรณ์ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เขื่อนแห่งแรกในลำน้ำแม่กลองก็เปิดใช้งาน ตามาด้วยเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ พ.ศ.2521 และเขื่อนเขาแหลม อ.ทองผาภูมิ พ.ศ.2528 ตามลำดับ
การสร้างเขื่อนแม้จะก่อให้เกิดเครือข่ายชลประทานกว้างขวาง ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของลำน้ำแม่กลอง แต่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของลำน้ำและวิถีของชุมชน ที่อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำแม่กลอง น้ำที่เคยหลากท่วมทุกปีหมดไปพร้อมๆ กับปลาหลายชนิดที่ไม่สามารถฝ่าข้ามเขื่อนเดินทางลงมาหากินตามปลายแม่น้ำ ไม่มีดินตะกอนจากแม่น้ำสูงเป็นนิ้วๆ ทับถมอยู่ตามเรือกสวนไร่นายามน้ำลดเหมือนเคย
เกษตรกรต้องหันมาใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพิ่มความสมบูรณ์ให้พื้นดิน และต้องพึ่งพิงยาฆ่าแมลงในการปราบศัตรูพืชและโรคที่ระบาดทำลายพืชผลอย่างหนักหน่วง หลังจากไม่มีน้ำท่วมทำลายตัวอ่อนของแมลงที่อาศัยในดิน ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรก็ทวีสูงขึ้นจนกลายเป็นภาระหนี้สินในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ โรงงานอุตสาหกรรมจากเมืองหลวง ได้เริ่มขยายตัวเข้ามาก่อตั้งในราชบุรี โดยเฉพาะตามสองฝั่งแม่น้ำ เพราะสะดวกต่อการนำน้ำขึ้นมาประกอบการผลิต อุตสาหกรรมที่สำคัญซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมสีข้าว อุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมทอผ้า นอกจากนั้นยังมีโรงงานขนาดย่อยอีกเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ผลิตอาหารกระป๋อง ผลิตผักผลไม้แห้ง ผลิตเต้าหู้แผ่น ต่อตัวถังรถยนต์ และทำอุปกรณ์เครื่องใช้ในรถยนต์ต่างๆ เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2512 เริ่มเกิดสภาวะน้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองอย่างต่อเนื่อง น้ำในแม่น้ำส่งกลิ่นเหม็น มีปลาลอยตายจำนวนมาก และประชาชนไม่สามารถใช้อาบและชำระล้างได้ตามปกติ จนในเดือนเมษายน พ.ศ.2513 ปัญหาน้ำเสียได้ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากโรงงานน้ำตาลในเขตอำเภอบ้านโป่งปล่อยน้ำเหลืออ้อยประมาณ 4,000 ตัน ไหลล้นลงไปในแม่น้ำ ทำให้น้ำเสียตลอดสายไปจนถึงจังหวัดสมุทรสงคราม
รายงานการบันทึกสภาพน้ำเสียของกรมอนามัยระบุว่า น้ำในแม่น้ำเวลานั้นเปลี่ยนสีเหมือนน้ำโคคา-โคล่า ปลาตายลอยฟ่องเป็นแพตลอดลำน้ำ ไม่เว้นแม้แต่ปลาขนาดใหญ่อย่างปลาดุกทะเล และปลากระโห้ น้ำมีกลิ่นเหม็นรุนแรงและเป็นคราบจับตัวเหนียวเมื่อใช้อาบ น้ำประปาซึ่งนำน้ำจากแม่น้ำแม่กลองไปผลิต มีกลิ่นเหม็นและใช้ดื่มไม่ได้เลย
การเน่าเสียของน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ไม่เพียงแต่นำความเสียหายมาสู่นาข้าว สวนผักผลไม้และพืชไร่ต่างๆ รวมถึงอาชีพประมงของประชาชนในสามจังหวัดเท่านั้น ยังทำให้ความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำแม่กลองลดน้อยลง และบางชนิดถึงกับสูญหายไปจากลำน้ำนี้ เช่น กุ้งแม่น้ำตัวใหญ่ๆ ปลายี่สก ปลาสะตือ ปลาเสือตอ ปลากระโห้ ปลาหมูอารีย์ ปลาน้ำหมึก ฯลฯ
อนึ่งการทำลายสภาพแวดล้อมของแม่น้ำแม่กลอง ยังเกิดจากการดูดทรายที่ทำกันเป็นธุรกิจใหญ่ มีเรือดูดทรายตลอดลำน้ำ ตั้งแต่ อ.บ้านโป่ง โพธาราม จนถึง อ.เมืองราชบุรี หาดทรายขาวสะอาดที่เคยเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนราชบุรี เป็นที่จัดงานประจำปี และทำกิจการปลูกถั่วงอก ก็สูญสิ้นไป เพราะตลิ่งทรุดตัวและพังทลายจนทำให้แม่น้ำขยายกว้างขึ้นกว่าเดิม ทรายในลำน้ำแม่กลองถือเป็นทรายชั้นดี ราคาสูง เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่กำลังขยายตัวอย่างมากในเวลานั้น เช่นเดียวกับหินจากเทือกเขางูก็เป็นหินคุณภาพดีที่เป็นที่ต้องการมาตลอด การระเบิดและย่อยหินที่เทือกเขางูเฟื่องฟูมาก จนถึงกับมีเสียงคัดค้านให้คำนึงถึงผลเสียหายที่จะมีต่อโบราณวัตถุสถานในถ้ำต่างๆ บริเวณเทือกเขางู ในที่สุดทางราชการจึงยุติการสัมปทานระเบิดหินที่เขางูในปี พ.ศ.2530
ที่มา :
สุดารา สุจฉายา และสาธิมา พุ่มศิริ .(2541). ยุคแห่งการทำลายและสูญสิ้นทรัพยากร. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 89-101) อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
-ข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาด้านป่าไม้และสัตว์ป่า จ.ราชบุรี
-อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี
-อุทยานธรรมชาติวิทยาตามพระราชดำริฯ
-ลักลอบตัดไม้ราชพัสดุ ราชบุรี
-ราชบุรี อดีตบ้านป่า "โยม..มีงาช้างดีดีบ้างไหม"
-นักล่ายี่สกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
-แกะรอย..พรานล่ากวาง
-ข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาด้านป่าไม้และสัตว์ป่า จ.ราชบุรี
-อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี
-อุทยานธรรมชาติวิทยาตามพระราชดำริฯ
-ลักลอบตัดไม้ราชพัสดุ ราชบุรี
-ราชบุรี อดีตบ้านป่า "โยม..มีงาช้างดีดีบ้างไหม"
-นักล่ายี่สกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
-แกะรอย..พรานล่ากวาง