วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ผลกระทบต่อชาวราชบุรี หากปล่อยให้สร้างโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมราชบุรี

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2554 เวลา 11:00 น. ชาวบ้านจาก อ.โพธาราม อ.จอมบึง อ.เมือง จ.ราชบุรี และชาวบ้านจาก จ.สมุทรสาคร จ.เพชรบุรีและ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 200 คน ซึ่งนำโดยนายวีระยุทธ์ อิ่มศีล แกนนำชาวบ้านใน จ.ราชบุรี และนายชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร แกนนำชาวบ้านจาก จ.ประจวบฯ ได้เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณวัดเจ็ดเสมียน ต.เจ็ดเสมียน อ. โพธาราม จ.ราชบุรี เพื่อทำพิธีสาบานตนว่าจะช่วยกันต่อสู้และคัดค้านไม่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม ราชบุรี (ดูรายละเอียดเนื้อข่าว) (ดูคลิบวีดีโอข่าว)

โดยคณะชาวบ้านได้แจกจ่ายเอกสารระบุถึงผลกระทบที่จะได้รับจากการสร้างโรงไฟฟ้า ดังนี้
(คัดลอกมาจากต้นฉบับ โดยไม่ได้ดัดแปลงข้อความใดๆ)

ญาติพี่น้อง มาทำความเข้าใจในปัญหา แห่งผลกระทบเกี่ยวกับโรงไฟฟ้ากันเถิด มิฉะนั้นในอนาคต ราชบุรีคงเป็นเหมือนมาบตาพุดที่ระยอง แน่นอน!?

นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี
ดูที่ตั้งและพิกัด
ราชบุรีมีโรงไฟฟ้ามากที่สุดถึง 6 โรง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 5,745 เมกกะวัตต์ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ของบริษัทราชบุรีเวอลด์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด โดยมี บริษัท ไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 40% ที่กำลังจะเกิดขึ้นในนิคมอุตสากรรมราชบุรี ห่างจากโรงพยาบาลเจ็ดเสมียนเพียง 1 กม. ห่างจากโรงพยาบาลโพธาราม 4 กม. มีกำลังการผลิต 224 เมกกะวัตต์ โดยใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองซึ่งเป็นน้ำคุณภาพระดับ 3 ดีที่สุดใน 25 ลุ่มน้ำ ราชบุรีเป็นเมืองเกษตรกรรมแหล่งผลิตอาหาร คงหายนะแน่นอน

ผลกระทบที่ชาวราชบุรีจะได้รับจากโรงไฟฟ้า
  1. โรงไฟฟ้าแย่งใช้น้ำจากชาวบ้านวันละ 960,000 ลิตร  ปีละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถปลูกข้าวได้ 4,000 ไร่ ปลูกพืชไร่ได้ 8,000 ไร่ น้ำจำนวนนี้ชาวบ้านสามารถใช้ได้ถึง 10 ปี
  2. น้ำในแม่น้ำย่อมลดน้อยลง ระดับน้ำใต้ดินต่ำ ทำให้น้ำจากทะเลหนุนซ้ำ เกิดน้ำกร่อย กุ้ง หอย ปู ปลา ตาย น้ำซึ่งชาวบ้านใช้ดื่ม กิน อาบ การเกษตร การเลี้ยงสัตว์ ไม่สามารถนำมาใช้ได้
  3. น้ำทิ้ง ปล่อยลงแม่น้ำแม่กลองประมาณวันละ 6,000 ลูกบาศก์เมตร ปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนักเป็นของแถม ทางท่อน้ำทิ้งหมู่ 4 ติดวัดสนามชัย (ของแถมสะสมไว้ให้ลูกหลานพวกเรา)
  4. น้ำเน่าเสีย ปนเปื้อนสารเคมี และโลหะหนักบางส่วนตกค้างตามลำคลอง สัตว์น้ำต่างๆ ที่เคยมีต้องสูญพันธุ์ การประกอบอาชีพอิสระจับสัตว์น้ำคงสูญหาย ต้องประกอบอาชีพรับจ้างและลักเล็กขโมยน้อย เกิดปัญหาไม่รู้จบ
  5. น้ำร้อนและไอความร้อนที่โรงไฟฟ้าปล่อยทิ้ง 40 องศาเซลเซียส  ขณะที่อุณหภูมิของร่างกายคนอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งน้ำร้อนนั้นสูงกว่า  ร่างกายคนย่อมได้รับไอความร้อน มีผลกระทบต่อผิวหนัง และสุขภาพร่างกายของเรา 1,000 ชั่วโคตร 
  6. หม้อต้มน้ำขนาดยักษ์เพื่อทำไอน้ำร้อน ถ้าเกิดเหตุภัยธรรมชาติ หม้อน้ำระเบิด หม้อน้ำและไอความร้อนจะเป็นภัยต่อสิ่งต่างๆ ทั้งคนและสัตว์
  7. ความดังของเสียง 70 เดซิเบล ย่อมสร้างมลภาวะทางเสียง  ทำลายสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น และวิถีชีวิตของชุมชนให้เปลี่ยนแปลงไป ต้องย้ายถิ่นฐานดั้งเดิม
  8. นักเรียนแต่ละโรงเรียนในรัศมี ได้รับผลกระทบทางการหายใจจากก๊าซพิษและฝุ่นละอองที่ปลิวอยู่ในอากาศ น้ำมูกไหล  ภูมิแพ้  โรคผิวหนัง  ผื่นคัน และโรคอื่นๆ ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล
  9. ผลผลิตทางการเกษตร ย่อมได้รับผลกระทบ แมลงผสมเกสรหนี หาย ตาย การผสมเกสรไม่ติด เกสรไม่สมบูรณ์ ผลผลิตตกต่ำขาดทุน
  10. คลื่นความร้อนมีผลกระทบต่อการหลั่งน้ำนมของวัวนมให้ลดลง ซึ่งในจังหวัดราชบุรีมีผู้เลี้ยงวัวนมมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากสระบุรี
  11. ทำลายแหล่งท่องเที่ยว ทางบกและทางน้ำของจังหวัดราชบุรี ตลอดจนที่อยู่อาศัยของค้างคาวจำนวนมาก (ค้างคาวร้อยล้าน)
  12. ปัจจุบันนี้จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ที่มีค่าฝุ่นละอองในอากาศสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน เป็นผลเสียต่อสุขภาพ
  13. กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจะเกิดก๊าซไนโตรเจนไดอ๊อกไซด์ เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน อากาศแปรปรวน  โลกได้รับภัยพิบัติ  น้ำท่วม ฝนแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ฤดูกาลเปลี่ยนไป
  14. กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า จะเกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์  มีผลกระทบต่อทางเดินหายใจเป็นอันตรายต่อหลอดลมและปอด
  15. ก๊าซไนโตรเจนไดอ๊อกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ ลอยอยู่ในอากาศกว้างไกลไร้พรมแดน แฝงตัวรวมกับหมอก น้ำค้าง น้ำฝน เป็นฝนกรด หมอกกรด  น้ำค้างกรด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สร้างความเสียหายแก่พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งปวง น้ำและดินเสื่อมเป็นกรดมากขึ้น
  16. สภาพน้ำและดินเป็นกรด สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดินและพืชตาย เกิดจุลินทรีย์เชื้อโรคแทน  ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในการทำเกษตรกรรม  เลี้ยงสัตว์ และอื่นๆ ประสบปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น
  17. น้ำฝนไม่สามารถนำมาใช้ดื่ม อาบได้ ต้องซื้อน้ำมาดื่มมาใช้ เป็นการเพิ่มรายจ่ายของครอบครัว
  18. ราชบุรีไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้านั้นจะขาดแคลนเชื้อเพลิง ถ่านหิน  น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เพราะใช้เชื้อเพลิงจำนวนมหาศาล  ย่อมหมดเร็วขึ้น ก่อมลพิษมากมาย และโลกร้อนขึ้น
  19. การก่อมลพิษทางอากาศ และทางเสียง เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนอย่างจงใจไปตลอดกาล 1,000 ชั่วโคตร
  20. การผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในจังหวัดราชบุรี ใช้ในจังหวัดเพียง 7% ส่วนที่เหลืออีก 93% นำไปขายต่างจังหวัด  คนราชบุรีก็ยังคงใช้ไฟฟ้าราคาแพงเหมือนคนจังหวัดอื่นทั่วๆไป  แต่ได้ของแถมอันชั่วร้ายมากมาย เช่น สารพิษ แคดเมียม  ตะกั่ว ปรอท อลูมิเนียม ไว้ให้ลูกหลานชาวราชบุรี 1,000 ชั่วโคตร


กลุ่มชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าให้กับ
นายประจวบ อุชชิน
กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด

ที่มาของภาพ
http://hctvtoyou.blogspot.com/2011/09/blog-post_29.html 

คนราชบุรีอยู่กันอย่างสงบสุข กลับนำความยุ่งยาก หายนะมาสู่พวกเราอย่างมากมาย 6 โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 4 โรงถ่านหิน ขณะนี้ก็แสนสาหัสในการดำรงชีวิตแล้ว จึงขอคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ ชาวราชบุรีขอกำหนดอนาคตของตัวเอง

ขอจงรวมตัวกันลุกขึ้นสู้ เพื่อลูกหลานในอนาคต "ประชาชนชาวจังหวัดราชบุรี"


*********************************
อ่านเพิ่มเติม
อ่านต่อ >>