วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าวจะได้มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนได้มีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในพื้นที่แหล่งอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

การเลือกพื้นที่ป่าที่จะกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ยึดถือหลักในการเลือกพื้นที่ดังนี้

  1. เป็นป่าที่มีสัตว์ป่าชนิดหายาก หรือกำลังจะสูญพันธุ์อาศัยอยู่
  2. มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และที่หลบภัยสำหรับสัตว์ป่าอย่างเพียงพอ
  3. อยู่ห่างจากชุมชนพอสมควร
  4. เป็นป่าผสมกันหลายชนิดอยู่ในผืนเดียวกัน เป็นต้นว่า มีทั้งป่าดงดิบ ป่าโปร่ง ป่าไผ่ ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ฯลฯ เพราะพื้นที่ที่มีลักษณะดังกล่าวย่อมมีประโยชน์ต่อสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด
  5. จะต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของบุคคลใด ซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง
ข้อมูลทั่วไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีถูกประกาศตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 76 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2521 มีพื้นที่ประมาณ 489.31 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 305,820 ไร่ ตั้งอยู่ในอำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี
ประเทศสมาชิกอาเซียนได้กำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่จะประกาศให้เป็นมรดกทางการท่องเที่ยวของอาเซียน แหล่งท่องเที่ยวที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกอาเซียนตาม ASEAN Declaration on Heritage Park แล้ว เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) อุทยานแห่งชาติตะรุเตา กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ และอ่าวพังงา

สถานที่ตั้ง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) มีพื้นที่ประมาณ 489.31 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 305,820 ไร่ ตั้งอยู่ในอำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ในแนวเส้นรุ้งประมาณ 13 องศา 8 ลิปดาเหนือ ถึง 13 องศา 27 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 10 ลิปดาตะวันออก ถึง 99 องศา 25 ลิปดาตะวันออก สำนักงานตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ 4 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี



อาณาเขตติดต่อทิศเหนือ ติดต่อ ป่าสงวนแห่งชาติฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ท้องที่ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ท้องที่ตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อ ชายแดนสหภาพพม่า ท้องที่ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา และตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อ ป่าสงวนแห่งชาติฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ท้องที่ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคาจังหวัดราชบุรี

อัตรากำลังเจ้าหน้าที่
ข้าราชการ 3 คน, ลูกจ้างประจำ 25 คน, พนักงานราชการ 29 คน,พนักงานจ้างเหมา 50 คน
หน้าที่
ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
  • งานสารบรรณ
  • งานรับ - จ่าย พัสดุและครุภัณฑ์
  • งานรับ - ส่ง โต้ตอบหนังสือราชการ
  • งานเบิกจ่าย หมวดค่าใช้สอยและค่าจ้าง
  • ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
  • งานเฝ้าระวัง
  • งานตรวจปราบปรามและจับกุมการกระทำผิด
    -การบุกรุกพื้นที่
    -การลักลอบล่าสัตว์ป่า
    -การลักลอบทำไม้
    -การลักลอบเก็บหาของป่า
ฝ่ายจัดการสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ
  • งานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านพืชและสัตว์
    1.การศึกษาพันธุ์พืชในป่าเขตร้อน
    2.การศึกษาชนิดและประชากรของสัตว์ป่า
    3.การสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของสัตว์ป่า
  • ผลงานวิจัยที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้วคือ
    1.การศึกษาพันธุ์ไม้ในป่าดิบแล้ง
    2.การศึกษาพันธุ์ไม้ในป่าเต็งรัง
    3.การศึกษาดินโป่ง
    4.การศึกษาชนิดและประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่
  • บรรยายให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่มาเข้าค่ายอนุรักษ์
  • ประชุมชี้แจง ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ ในการที่จะอยู่ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนที่อยู่รอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
  • จัดแสดงนิทรรศการป่าไม้
  • ผลิตและแจกเอกสารเผยแพร่
ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ
  • กิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำ
  • กิจกรรมการสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสัตว์
  • กิจกรรมการฟื้นฟูสภาพป่า
หน่วยพิทักษ์ป่า
ภารกิจและหน้าที่ในการตรวจลาดตระเวนป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ในพื้นที่รับผิดชอบ ดูแลเก็บรักษาของกลางและอุปกรณ์ การกระทำผิดในคดีต่าง ๆ ดูแลรักษาพัสดุครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้างที่ใช้ประจำหน่วยพิทักษ์ป่า จัดตั้งเวรยามดูแลรักษาความเรียบร้อย และความปลอดภัยของหน่วยงาน ซึ่งมีหน่วยพิทักษ์ป่า 6 หน่วย คือ
  1. หน่วยพิทักษ์ป่าพุน้ำร้อน ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
  2. หน่วยพิทักษ์ป่าลำบัวทอง ต.บ้านคา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
  3. หน่วยพิทักษ์ป่าสวนผึ้ง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  4. หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยม่วง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  5. หน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  6. หน่วยพิทักษ์ป่าหนองตาดั้ง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

หน้าที่สำคัญของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
  • ออกตรวจปราบปรามในบริเวณพื้นที่ที่รับผิดชอบโดยรอบ
  • มีการนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้
  • มีการประชาสัมพันธ์ ประชุม ชี้แจงเกี่ยวกับข่าวสาร การอนุรักษ์ให้กับชาวบ้านที่อยู่รอบๆ เขตฯ แม่น้ำภาชี ได้รับทราบทุกเดือน
  • อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เข้าเยี่ยมหรือขอใช้สถานที่ ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่เขตฯ แม่น้ำภาชี
ลักษณะทางชีวภาพ
ชนิดป่า ป่าดิบชื้น, ป่าดิบแล้ง, ป่าเบญจพรรณ, ป่าเต็งรัง
สัตว์ป่า พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มี 21 วงศ์ 43 ชนิด
  • สัตว์จำพวกนก มี 55 วงศ์ 212 ชนิด
  • สัตว์เลื้อยคลาน มี 9 วงศ์ 16 ชนิด
  • สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มี 4 วงศ์ 14 ชนิด
สัตว์ป่าชนิดเด่น เลียงผา, เก้งหม้อ, นกเงือก
สัตว์ป่าที่มีมาก เก้ง, ค่างเทา, ลิงเสน, นกขุนทอง, หมีคน, สมเสร็จ, กระทิง , วัวแดง, นกหัวขวาน

สภาพทั่วไป
สภาพทั่วไปของพื้นที่ประกอบด้วย ภูเขาสูงสลับซับซ้อน มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ เขาพุน้ำร้อน มีระดับความสูงประมาณ 1,062 เมตรจากระดับน้ำทะเล รองลงมาคือยอดเขาใหญ่ มีระดับความสูงประมาณ 1,055 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และเขาจมูกสูงประมาณ 955 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ภูเขาต่างๆ
บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำภาชี ซึ่งประกอบด้วย ห้วยต้องกินเจ้า และห้วยพุระกำ นอกจากนี้แม่น้ำภาชีทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ยังเป็นแหล่งกำเนิด ห้วยน้ำพุร้อน ห้วยสวนพลู ห้วยจารุณีย์ ห้วยลำบัวทอง ห้วยน้ำใส ไหลลงห้วยท่าเคย ในท้องที่ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา ตำบลท่าเคย ซึ่งต่างก็ไหลลงรวมกับแม่น้ำภาชีที่ตำบลสวนผึ้ง และไหลออกสู่แม่น้ำแควน้อยที่จังหวัดกาญจนบุรี มีความยาวเฉพาะในเขตจังหวัดราชบุรี 80 กิโลเมตร เพื่อออกสู่แม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดราชบุรี
สภาพภูมิอากาศ
เป็นบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์ตำ เพราะอยู่ในเขตเงาฝน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,548 มิลลิเมตร บางปีมีปริมาณน้ำฝนรวมทั้งปี 246.3 มิลลิเมตร สำหรับการกระจายของปริมาณน้ำฝนเป็นรายเดือน มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด เดือน ตุลาคม รองลงมาคือ เดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน


ทรัพยากรป่าไม้ลักษณะภูมิประเทศของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ช่วงชั้นความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 200 – 1,062 เมตร ทำให้เกิดชนิดป่าหลายชนิดกระจายอยู่บนพื้นที่ที่มีความสูงต่าง ๆ กัน ประกอบด้วยป่า 4 ประเภท คือ
  1. ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 27,523.8 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9 ของพื้นที่ โดยมีการกระจายอยู่ทางตอนใต้และตะวันตกของพื้นที่และบริเวณลำห้วยสายใหญ่ ๆ กระจายอยู่ในหลายระดับความสูง เช่น บริเวณ ลำห้วยพุน้ำร้อน ห้วยต้องกินเจ้า ห้วยพุระกำ และหุบเขาจมูก เป็นต้น สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่จะรกทึบ ประกอบไปด้วยไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม หวายและเถาวัลย์ชนิดต่าง ๆ เป็นไม้ที่เป็นดัชนีสำคัญ ได้แก่ ตะเตียนทอง กระบาก หว้า กระทุ่มน้ำ นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้และเฟิร์นอีกหลายชนิด เช่น ชายผ้าสีดา เป็นต้น
  2. ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) สำหรับป่าดิบแล้ง กระจายตัวอยู่ในทั่วพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งเป็นพืชสังคมที่พบมากที่สุดและมีการกระจายตัวมากในตอนบนของแนวขอบพื้นที่ และมีพืชรุ่นสองที่มีการฟื้นตัวกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ชนิดพันธุ์ที่พบมาก เช่น กระเบาค่าง กระเบากลัก หว้า เป็นต้น
  3. ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ครอบคลุมพื้นที่ 55,047.6 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18 ของพื้นที่ พบตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ ลักษณะเด่นที่ปรากฏในป่าชนิดนี้ คือ ป่าโปร่งประกอบด้วยไม้ขนาดกลางจำนวนมาก การผลัดใบของพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าชนิดนี้ เพื่อลดอัตราการคายน้ำในช่วงปริมาณความชุ่มชื้นในดินมีน้อย พันธุ์ไม้จะเริ่มทิ้งใบในช่วงปลายเดือนธันวาคม และจะค่อย ๆ ผลิใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ป่าชนิดนี้มักจะมีไฟป่าเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งเพราะมีไผ่อยู่มาก พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะแบก เสลา ประดู่ มะค่าโมง ขี้อ้าย แดง เก็ดดำ เป็นต้น ส่วนไม้พื้นล่างประกอบด้วย สาบเสือ หญ้า เถาวัลย์ต่าง ๆ และไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ เช่น ไผ่รวก ไผ่ป่า ไผ่บง
  4. ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ครอบคลุมพื้นที่ 18,349.2 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6 ของพื้นที่ ป่าชนิดนี้จะพบทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอยู่ถัดจากป่าเบญจพรรณออกมา ดินจะมีลักษณะเป็นทรายและลูกรัง ลักษณะโครงสร้างของป่าชนิดนี้จะเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลางกระจายอยู่ทั่วไป และมีหญ้าชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไปเช่นกัน ไม้เด่นขององค์ประกอบโครงสร้างของป่าชนิดนี้ได้แก่ ไม้เต็ง รัง เหียง พลวง กว้าว พะยอม ส่วนไม้วงศ์อื่น ๆ ที่พบ เช่น มะขามป้อม รักเขา ไข่เต่า ตะแบกแดง เป็นต้น
ทรัพยากรสัตว์ป่า
สัตว์ป่าสงวนที่หายาก เช่น สมเสร็จ เก้งหม้อ ส่วนใหญ่พบบริเวณตอนล่างพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เลียงผา พบในบริเวณภูเขาสูงชันทั่วไปของพื้นที่เขตฯ เช่น เขาพุน้ำร้อน เขาจารุณีย์ เขาลำบัวทอง สัตว์อื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ กระทิง หมี วัวแดง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณป่าดิบแล้งตอนล่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เสือ เก้ง กวาง และสัตว์เล็ก ๆ พบกระจายทั่วไปของพื้นที่
สำหรับ นก ที่สำคัญอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี บริเวณตอนกลางและตอนล่าง ที่มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ สามารถพบเห็นนกได้หลายชนิด เช่น นกแก้ว นกแกง นกกาฮัง นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกสีน้ำตาล นกแซงแซวสวรรค์ นกแก๊ก พบในบริเวณลำห้วยสวนพลู ลำห้วย พุน้ำร้อน นกจาบคาเคราแดง พบในบริเวณเขตฯ แม่น้ำภาชีและหลังสำนักงานเขตฯ แม่น้ำภาชี และนกชนิดอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น จำนวน 186 ชนิด
แหล่งท่องเทียวที่น่าสนใจ
  • พุน้ำร้อน อยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านคา
  • น้ำตกห้วยสวนพลู อยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านคา
  • น้ำตกจารุณีย์ อยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านคา
  • น้ำตกซับเตย อยู่ในพื้นที่ อำเภอบ้านคา
  • น้ำตกพุระกำ อยู่ในพื้นที่ อำเภอสวนผึ้ง
  • แก่งส้มแมว อยู่ในพื้นที่ อำเภอสวนผึ้ง
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
  1. เส้นทางห้วยสวนพลู ระยะทาง 5 กิโลเมตร
  2. เส้นทางห้วยพุน้ำร้อน ระยะทาง 4 กิโลเมตร
  3. เส้นทางสมุนไพรไทย ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร
  4. เส้นทางผาผึ้ง ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร
  5. เส้นทางน้ำตกซับเตย ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร
โครงการต่างๆ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
  1. โครงการค่ายอนุรักษ์รักป่าภาชี
  2. โครงการฝึกอบรมการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร
  3. โครงการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และพัฒนาวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า



ดูเพิ่มเติม
เส้นทางศึกษาธรรมชาติใหม่ ห้วยพุน้ำร้อน
ความหลากหลายทางชีวภาพ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
คณะสื่อมวลชนในจังหวัด เที่ยวชมบรรยากาศในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี


ที่มา :
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี. (2553). สไลด์ประกอบการบรรยาย เมื่อ 4 มิ.ย.2553.
อ่านต่อ >>